พุทธศาสนิกชนรำลึก !!! ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา เนื่องในโอกาสครบรอบ 141 ปี เข้ากราบสักการะอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพ
วันที่ 11มิ.ย.2562พุทธศาสนิกชน ชาวเชียงใหม่และใกล้เคียง เข้ากราบสักการะอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพ เนื่องในโอกาสครบรอบ 141 ปี ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา เนื่องจากวัน11 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันครบรอบวันเกิดครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนา ซึ่งท่านเป็นแบบอย่างของพระพัฒนาที่สร้างคุณูปการต่อ จ.เชียงใหม่และชาวล้านนาไทยเป็นอย่างมาก
ครูบาเจ้าศรีวิชัย เดิมชื่อ “เฟือน” หรือ “อินท์เฟือน” “อินตาเฟือน” “ดินเฟือน” บ้างก็ว่า “อ้ายฟ้าร้อง” เนื่องจากในขณะที่ท่านเกิด มีปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ฤกษ์ดาวสวาติ ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ นายไหว, นางอ้วน, นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย), นางแว่นและนายทา
นายควาย บิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (หมื่นผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 (ช่วง พ.ศ. 2414-2431) มีเชื้อสายของกะเหรี่ยงแดง ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน นายอินท์เฟือน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกันดาร มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “ครูบาขัตติยะ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบาแข้งแคระ” (หมายถึง ขาพิการ เดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา
เด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา ก่อนที่จะมาศึกษากับครูบาขัตติยะต่อ เมื่อ พ.ศ. 2442 ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาปัญโญ วิชโย วัดหนองป่าตึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนพระอนุสาวนาจารย์ สันนิฐานว่าคือ ครูบาไชยา วัดบ้านโฮ่งหลวงได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า “สีวิเชยฺย”[1] มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย
เด็กชายอินท์เฟือน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา ก่อนที่จะมาศึกษากับครูบาขัตติยะต่อ เมื่อ พ.ศ. 2442 ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาปัญโญ วิชโย วัดหนองป่าตึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนพระอนุสาวนาจารย์ สันนิฐานว่าคือ ครูบาไชยา วัดบ้านโฮ่งหลวงได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า “สีวิเชยฺย”[1] มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย
หลังอุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้ว พระศรีวิชัย ได้กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปาง 1 พรรษา จากนั้นได้ ครูบาสมณะได้พาไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาโปธา (ครูบาสังฆราช) วัดทาดอยครั่ง และครูบาเมธา วัดทาดอยคำ และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ครูบาศรีวิชัย ได้รับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแต เป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. 2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัย จึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดศรีดอนไชยทรายมูลบุญเรือง ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดจอมสะหรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน
ครูบาศรีวิชัย เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด ท่านเคยเจาะหูและสักขาตามธรรมเนียมชาวล้านนา ครองจีวรแบบกุมผ้ารัดอก มักถือลูกประคำ พัดใบตาล พัดขนหางนกยูง และไม้เท้า ท่านงดการเสพหมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทย บางครั้งก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ
วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง
วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา
วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ
วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก
วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย
วันศุกร์ ไม่ฉันเทา
วันเสาร์ ไม่ฉันบอน
นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
วันที่ 22 มีนาคม 2481 ขณะที่อายุได้ 60 ปีเศษ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ถึงแก่กาลมรณภาพที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดจามเทวี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2489 ตามแบบประเพณีล้านนาไทยครูบาเจ้าศรีวิชัย ถือเป็นแบบอย่างของพระพัฒนาที่สร้างคุณูปการต่อจังหวัดเชียงใหม่และล้านนาไทยเป็นอย่างมาก แม้วันนี้ครูบาเจ้าศรีวิชัย จะมรณภาพมานานกว่า 81 ปี ทว่าชื่อเสียงของท่านยังคงอยู่ในศรัทธาของชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงไม่เสื่อมคลาย ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งล้านนาไทยผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเชียงใหม่และประชาชนโดยทั่วไป ผู้ที่จะเดินทางขึ้นไปดอยสุเทพมักจะแวะนมัสการอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล.
ทรงวุฒิ ทับทอง