“ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืน 10 มิถุนายน 2562 จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา มีประชาชนชนร่วมชมเนืองแน่น
ดาวพฤหัสบดีคืนใกล้โลก อวดโฉมทั่วไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืน 10 มิถุนายน 2562 จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา มีประชาชนชนร่วมชมเนืองแน่น กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายร่วมจัดสังเกตการณ์ตื่นตัวทั่วประเทศ ตั้งกล้องส่องดาวให้นักเรียนและชุมชนใกล้เคียง ร่วมเฝ้าชมดาวพฤหัสบดีกันทุกภูมิภาค สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ดาราศาสตร์สู่สังคมไทย
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับจุดสังเกตการณ์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ประชาชนหลายร้อยคนทยอยมารอชมดาวพฤหัสบดีตั้งแต่หัวค่ำ และร่วมรับฟังวงเสวนาในหัวข้อ “มหัศจรรย์ดาวพฤหัสบดี” โดย ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ กันอย่างตั้งใจ เด็กๆ หลายคนพากันซักถามกันด้วยความสงสัย จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.30 น. ดาวพฤหัสบดีปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าร่วมงาน พากันแห่ชมดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์
ด้านหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และจุดสังเกตการณ์ภาคใต้ ณ ลานชมวิวนางเลือก หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา ต่างมีผู้คนทยอยชมดาวพฤหัสบดีตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรม สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้อย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลาประมาณ 20.30 น. เช่นกัน และแต่ละแห่งยังมีกิจกรรม อาทิ ประดิษฐ์โมเดลดาวเคราะห์ ตอบคำถามชิงรางวัล เพิ่มพูนความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างเพลิดเพลิน
สำหรับโรงเรียนเครือข่ายที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ “กระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ครูและนักเรียนต่างนำกล้องโทรทรรศน์มาจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์กันอย่างคึกคักทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ยังเชิญชวนประชาชนในชุมชนใกล้เคียงมาร่วมชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้ด้วย
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีค่ำคืนนี้ หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก สามารถมองเห็นแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ได้อย่างชัดเจน สดร. มุ่งหวังใช้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ช่วยกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเกิดความตื่นตัว ความอัศจรรย์ใจเมื่อได้มองสิ่งเหล่านี้ผ่านช่องมองภาพ จะเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยเกิดความสนใจดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น
สำหรับผู้ที่พลาดชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ในเดือนหน้ายังมีให้ชมอีกหนึ่งปรากฏการณ์ ได้แก่ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ครับ นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย.
ทรงวุฒิ ทับทอง
Cr. งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)