11 พฤษภาคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้ง การปลูกข้าว และการแก้ไขปัญหาประตูระบายน้ำให้กับเกษตรกร โดยมี นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย ดร.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายธนสาร ธรรมสอน ประจำสำนัก เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี และนายนรวีร์ ขันธหิรัญ นายอำเภอกำแพงแสน และนายก นิธิโรจน์ พุฒิโชคกิตติกูล นายกห้วยม่วง กำนัน สรกฤช ลาวัณย์วิสุทธิ์ กำนันตำบลห้วยม่วง พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร และชาวจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมายนโยบายและหลักการทำงานสำคัญให้กับผู้บริหาร หัวหน้า ส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน รวมทั้ง บุคลากรหน่วยงานทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ เน้นนโยบายการแก้ไขปัญหาด่านการเกษตร เพื่อให้ “เกษตรกรกินดี อยู่ดี มีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน และ ภาคเกษตรไทยคือผู้นำสินค้าเกษตรในตลาดโลก” เน้นการสร้างวิธีการทำงาน สู่การปฏิบัติ อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการประชาชน ภาคการเกษตร การรับมือ ภัยธรรมชาติ ปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย ยกระดับ สินค้าเกษตร เสริมศักยภาพเกษตรกร การจัดการทรัพยากรทางการเกษตร ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การอำนวยความสะดวกด้านการเกษตร นั้น ขอขอบคุณ นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม รองผู้ว่าราชการจังหวัด นครปฐม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนครปฐม ผู้บริหารกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และเกษตรกรทุกท่าน ที่ได้ให้เกียรติมาร่วมให้ข้อเสนอแนะ แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่ร่วมกันในวันนี้
นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐม เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ มีทรัพยากรดินและน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร โดยมีแม่น้ำท่าจีนเป็นแม่น้ำสายหลัก และมีระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว พืชผัก และผลไม้ที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปีและข้าวนาปรัง กล้วยไม้ตัดดอก และส้มโอ เป็นต้นนอกจากนี้ ยังมีการทำประมงน้ำจืดที่สำคัญ ได้แก่ การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนนาไม และปลาน้ำจืด
แต่ในขณะนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ต้องประสบปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาข้าวดีด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ มีปริมาณน้อย ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ในด้านของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดนครปฐม
ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากพันธุ์กุ้งที่ใช้ยังไม่มีมาตรฐาน ทำให้อัตราการรอดของลูกกุ้งที่ปล่อยมีน้อย ประกอบกับราคาต้นทุนอาหารกุ้งที่มีราคาสูง อีกทั้งราคากุ้งที่ขายได้ยังตกต่ำอีกด้วย