ที่ วัดมหาพุทธาราม พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำสรง เพื่อเชิญไปสรงพระพุทธมหามุนี (หลวงพ่อโต) ในงาน “นมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อโต บูชาพระใหญ่ ไหว้ตรุษสงกรานต์ สนานธรรมราช” ประจำปี 2567 โดยมี พระธรรมวัชรวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 วัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
โดยในกิจกรรมได้มีพิธีอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคลื่อนขบวน จากบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ แห่รอบเมืองมุ่งหน้าไปยังวัดมหาพุทธาราม ตามเส้นทางที่กำหนด เมื่อขบวนไปถึงบริเวณวัดมหาพุทธาราม มี นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นผู้อัญเชิญน้ำสรงพระราชทานฯ ลงจากขบวนรถเข้าไปภายในพระวิหารหลวงพ่อโต โดยมีพระสงฆ์สมณศักดิ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดศรีสะเกษ ได้อ่านหมายรับสั่งสำนักพระราชวัง และประกอบพิธีเทน้ำสรงลงบนพระหัตถ์หลวงพ่อโต จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชนและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้สรงน้ำขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 67 นี้อีกด้วย
ทั้งนี้ในช่วงเดือน เม.ย. ระหว่างเทศกาลสรงกรานต์ของทุกปี วัดมหาพุทธาราม มีประเพณีที่สำคัญที่ถือปฏิบัติมาโดยตลอด คือ งานนมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อโต ในปี 2567 นี้ วัดพระโต จึงได้กำหนดจัดงานนมัสการและสรงน้ำหลวงพ่อโต “บูชาพระใหญ่ ไหว้ตรุษสงกรานต์ สนานธรรมราช” ขึ้น ในวันที่ 10-16 เม.ย. 2567 นี้ รวมเวลา 7 วัน 7 คืน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการ และสรงน้ำหลวงพ่อโต เป็นการรักษาไว้ซึ่งบริบทด้านประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และวัฒนธรรม มีส่วนร่วมของพลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน ส่วนราชการ องค์กรเอกชน และชุมชนในท้องถิ่น
เพื่อเผยแผ่และส่งเสริมกิจการทางพระพุทธศาสนาของพุทธบริษัท ในพื้นที่และปริมณฑล เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคี ของชุมชน วัด บ้าน โรงเรียน และส่วนราชการ โดยในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เช่น สรงน้ำหลวงพ่อโตจำลอง สรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานบนเจดีย์ทราย สรงน้ำพระสังกัจจายน์ พระสีวลี บูรพาจารย์ของวัด บูชาดอกไม้ธูปเทียน บูชาแผ่นทองคำเปลว และตักบาตรร้อยแปด เป็นต้น
สำหรับ วัดมหาพุทธาราม เป็นวัดสำคัญเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองศรีสะเกษ มาตั้งแต่สมัยเมืองศรีนครเขต ปัจจุบันมหาเถรสมาคม ประกาศให้วัดมหาพุทธาราม เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดศรีสะเกษ แห่งที่ 1/2549 แสดงว่าวัดมหาพุทธาราม เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวพุทธทั้งหลาย เป็นศูนย์กลางงานของคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน นอกจากนี้ วัดมหาพุทธาราม ยังเป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของเจ้าเมืองและข้าหลวงในอดีต และข้าราชการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ตลอดมากระทั่งปัจจุบัน
วัดมหาพุทธาราม เดิมชื่อว่า วัดป่าแดง เพราะสร้างขึ้นในกลางป่าไม้แดง น่าจะสร้างขึ้นในราว พ.ศ.2257 สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรหน่อพุทธางกูร ผู้ครองนครอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก โดยมี เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก สังฆราชนครจำปาสัก ได้มอบหมายให้ศิษย์คนสำคัญ 4 ท่าน เป็นหัวหน้าคณะ แยกย้ายออกไปหาที่ตั้งบ้านแปงเมืองใหม่ โดยจารย์เชียง ไปครองเมืองศรีนครเขต บริเวณที่ตั้งเมืองศรีสะเกษ ในปัจจุบัน ต่อมาบ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง วัดจึงขาดการทะนุบำรุงจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมา ในปี พ.ศ.2328 มี นายพรานบ้านพานทาเข้าไปล่าสัตว์ในบริเวณป่าไม้แดง ติดตามเก้งที่วิ่งหายเข้าไปในหลบบริเวณเนินดินที่มีต้นไม้รกครึ้มด้วยเถาวัลย์ จึงพบว่า เนินดินคล้ายสิมเก่า (อุโบสถ มีพระพุทธรูปหินดำเกลี้ยงโผล่เหนือดินขึ้นมาครึ่งองค์ จึงไปแจ้งให้ พระยารัตนวงศา (อุ่น) เจ้าเมืองทราบ ท่านจึงสั่งให้ฝ่ายกรมเมืองเข้าไปสำรวจ พบว่า บริเวณดังกล่าว เป็นสิมเก่าของวัดป่าแดงที่ร้างไป พร้อมกับความเสื่อมสถานะของเมืองศรีนครเขต
เจ้าเมืองจึงมีดำริที่จะสร้างวัดใหม่ในบริเวณเดิมเพื่อให้เป็นวัดประจำเมืองศรีสะเกษ แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน พระยาวิเศษภักดี (ชม) บุตรพระยารัตนวงศา (อุ่น) เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนที่ 2 จึงได้ดำเนินการสร้างวัดต่อไปจนแล้วเสร็จ ในขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ อาจารย์ครูศรีธรรมา ผู้เป็นลุง ซึ่งเป็นช่างฝีมือดีจากนครจำปาสัก สร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย สกุลช่างจำปาสัก มีขนาดหน้าตักกว้าง 3.50 เมตร ความสูงตั้งแต่พระเกศาลงมา 6.85 เมตร ครอบพระพุทธรูปองค์เดิม ถวายนามว่า หลวงพ่อโตองค์ตื้อ แต่ชาว เรียกว่า หลวงพ่อโต นามทางการว่า พระพุทธมหามุนี และเมื่อ พ.ศ.2509 มีการสร้างวิหารใหญ่ครอบ มีความกว้าง 14 เมตร ยาว 40 เมตร และได้เปลี่ยนชื่อ วัดป่าแดง เป็น วัดพระโต ตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมา คณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อ วัดพระโต มาเป็น วัดมหาพุทธาราม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะ เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 29 เดือน พ.ค. พ.ศ.2555 นับเป็นพระอารามหลวงแห่งที่ 3 ของจังหวัดศรีสะเกษ อีกด้วย.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน