วันที่ 10 ธ.ค.66 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมิติของศาสนา การพัฒนา และชุมชนพหุวัฒนธรรม ปี 2567 โดยมีพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยพลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) รองแม่ทัพภาคที่ 4 /รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 ศอ.บต.
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า นโยบายของรัฐบาลโดย ป.ป.ส.ที่ได้กำกับดูแลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ประเมินว่ารัฐบาลมีความจริงจังและมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา และทำให้ปริมาณการค้ายาเสพติดจะต้องลดลงและหมดไป พร้อมทั้งลดจำนวนผู้เสพผู้ใช้ ตลอดจนจำนวนผู้ติดยาเสพติดรายใหม่ถึงแม้ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป แต่ยังมีพืชบางชนิดเช่น ใบกระท่อมและกัญชาที่เป็นวาระทางกฎหมาย ซึ่งในส่วนของใบกระท่อม ที่จะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเคร่งครัด ดังนั้นปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปโดยเร็ว
พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้การขับเคลื่อนงานโดยเฉพาะเรื่องของผู้ป่วยจิตเวชที่อยากจะให้มีตัวเลขชัดเจนเพื่อลดอัตราการเกิดอาชญากรรมในพื้นที่ ลดจำนวนผู้เสพ ผู้ติดยา โดยสำรวจในชุมชน/หมู่บ้านอย่างเคร่งครัด ให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกันในการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างความเข้มแข็ง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่และขยายผลไปยังผู้ค้าดำเนินการให้เด็ดขาดต่อไป สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจจะให้เป็นไปตามแนวทาง 5 ประการของศอ.บต. แต่จะต้องเดินหน้าบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ในที่ประชุมศอ.บต. ได้นำเสนอกรอบการแก้ไขปัญหา โดยสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับพื้นที่ปลายบูรณาการส่งเสริมและขยายผลบทบาทกลไกภาคประชาสังคมระดับพื้นที่หมู่บ้านชุมชนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนองค์กรต่างๆในพื้นฐานการกระจายบทบาทและทรัพยากรอย่างเหมาะสม ซึ่งกลไกของภาคประชาสังคมในการเสริมสร้างพลังในการป้องกันยาเสพติดด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน โดยมีแนวทาง ในการขับเคลื่อน 5 แนวทาง อาทิ 1. ลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะกลุ่มจิตเวชยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชนโดยการสร้างเครือข่ายค้นหาสนับสนุนการนำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดและติดตามดูแล 2.เพิ่มและขยายบทบาทด้านศาสนาสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ในการสร้างการรับรู้ผ่านบุคคลที่มีอิทธิพลทางด้านความคิดเสริมสร้างความรู้ผ่านหลักสูตรการศึกษาและจัดให้มีองค์กร มีระบบป้องกัน บำบัด ฟื้นฟู 3.การใช้สังคมพหุวัฒนธรรมและอัตลักษณ์อื่นๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สนับสนุนกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมเชิงสร้างสรรค์ลดความเสี่ยงในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 4.การพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิตฝึกอาชีพทักษะวิชาชีพจัดหางานที่เหมาะสม และ 5.การขยายบทบาทของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยเฝ้าระวังตรวจตราในหมู่บ้าน รักษาความปลอดภัยตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครและประชาชนในพื้นที่
จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินลงพื้นที่ต่อไปยังมัสยิดหลักเขต (มัสยิดการุลนาอีม) หมู่ที่ ๙ ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อพบปะผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และกลุ่มที่จะจัดตั้งศูนย์บำบัดยาเสพติดพร้อมส่งเสริมด้านอาชีพ และเดินทางต่อไปยังพื้นที่ตำบลบาลาเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจเยี่ยมสถานบำบัดเอกชน บ้านแสนสุขซึ่งจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดกว่า 200 คน
ปัตตานี_101266 ภาพข่าว: ตอริก ปัตตานี
ตอริก สหสันติวรกุล ปัตตานี