เชียงใหม่เดินหน้าระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อปรับปรุงร่างเอกสารข้อเสนอ (Draft Nomination Dossier)ให้สมบูรณ์พร้อมส่งกลับให้ศูนย์มรดกโลก UNESCO พิจารณา ต้นปี 2563 จี้ภาครัฐร่วมใส่ใจจริง ภาคเอกชนพร้อมหนุน ชาวบ้านภาคประชาสังคมย้ำทุกส่วนต้องเอาจริงโชว์พลังทั้งจังหวัด รัฐบาลต้องจริงใจผลักดันเต็มที่
วันที่ 10 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมและหัวหน้าโครงการเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก เปิดเผยว่า โครงการขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อทำแผนการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกและคุณค่าเมืองเชียงใหม่ – ดอยสุเทพ ในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก หลังจากที่ศูนย์มรดกโลก ณ นครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ส่งมาพร้อมคำแนะนำเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการปรับปรุง ร่างเอกสารข้อเสนอ (Draft Nomination Dossier) ซึ่งคณะทำงานสรุปไว้พร้อมส่งตรวจสอบความถูกต้องครั้งที่ 1 แล้วและเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด ในการพัฒนาปรับปรุง ร่างเอกสารดังกล่าว ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นครั้งนี้ จากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มสำคัญ คือหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายนและจะสรุปภาพรวมก่อนทำเล่มส่งให้ UNESCO พิจารณาอีกครั้งต้นปี 2563 นี้ ภายใต้ปีงบประมาณ 2562 ที่จะดำเนินการจนถึง 31 มกราคมปีหน้า ทั้งนี้กระบวนการทั้งหมดจะต้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 หรือระยะ 10 ปีหลังจากที่ได้รับการประกาศเป็นเมืองในบัญชีรายชื่อการพิจารณาเบื้องต้นเมื่อปี 2558
อย่างไรก็ตาม เวทีของหน่วยงานภาครัฐนักวิชาการมองว่า จะต้องมีการบูรณาการแผนพัฒนาเพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคต่างๆในพื้นที่ ที่จะเสนอ การมีส่วนร่วมในการจัดการ ทั้งการอนุรักษ์และพัฒนา ซึ่งคณะทำงานจะได้ลงพื้นที่ เพื่อรวบรวมทำความเข้าใจให้อยู่ในแผ่นเดียวกันต่อไป แต่ก็มีข้อห่วงใยในเชิงของนโยบายทุกระดับ ที่จะต้องสอดคล้องกันด้วยตั้งแต่รัฐบาลกลาง จนถึงท้องถิ่น และ ประชาชนในพื้นที่ ส่วนเวทีของภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่เขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ และจุดที่เกี่ยวข้อง ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ชมรมธนาคาร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธุรกิจด้านท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และอื่นๆ ต่างมองว่าประเด็นเรื่องมรดกโลกเป็นเรื่องสำคัญ ทุกฝ่ายน่าจะมีส่วนร่วม และดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนก็พร้อมสนับสนุนเพราะมีแต่ผลเชิงบวก แต่จำเป็นจะต้องมีการเข้าถึงข้อมูลหรือให้ข้อมูล ในด้านการอนุรักษ์หรือพัฒนาได้ง่าย และต้องให้ UNESCO หรือสำนักงานมรดกโลก ยอมรับในสิ่งที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเชียงใหม่ ไม่ถูกกะเกณฑ์หรือสร้างเงื่อนไข จนทำให้เกิดผลกระทบ และเป็นปัญหาต่อการพัฒนาหรือการดำรงอยู่ของเมืองเชียงใหม่เองด้วย
เช่นเดียวกับกลุ่มภาคประชาชน คณะสงฆ์ ชาวบ้านในพื้นที่โดยเฉพาะเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ ต่างมองว่า การสร้างการรับรู้ เมืองมรดกโลก ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีส่วนดูแลรักษารากเหง้าที่มีอยู่ แม้เมืองมีการพัฒนา แต่ก็ควรจะมีการจัดระบบผังเมือง และอื่นๆให้มีความเหมาะสมไม่ทำลายสิ่งที่มีอยู่ มีบทเรียนในหลายพื้นที่ และหลายกรณี ที่จะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ ในเชิงของนโยบายของรัฐ ท้องถิ่น ก็ต้องเอาจริงและชัดเจนมากกว่านี้ เชื่อว่าชาวบ้าน พร้อมร่วมในการปกป้อง รากเหง้าวิถีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ ของเชียงใหม่ แต่หลายคนก็เป็นห่วง หากเป็นเมืองมรดกโลก ชาวบ้านประชาชนหรือคนเชียงใหม่ จะถูกตีกรอบ จาก UNESCO หรือองค์กรทางมรดกโลกหรือไม่ บางที่บางแห่ง จะทำอะไรไม่ได้ ต้องรับรู้ และ ร่วมกัน ซึ่งมองแล้วก็ถือว่าเป็นโอกาส แต่ทั้งหมดทั้งมวล ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะจริงจังช่วยผลักดันเรื่องนี้อย่างไร เพราะผ่านมา คณะทำงานในเชียงใหม่ค่อนข้างจะทำงานกันหนักมาก.
ทรงวุฒิ ทับทอง