Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวมุกดาหาร ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

มุกดาหารคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จังหวัดสะอาด ประจำปี 2567

มุกดาหารคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จังหวัดสะอาด ประจำปี 2567

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เปิดเผยว่า ผลการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 คณะกรรมการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 ได้พิจารณาจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนยั่งยืน (กลุ่มต้นแบบ) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อุบลราชธานี นอกจากนี้ในกลุ่มทั่วไปซึ่งประกอบด้วยกลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ จังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เลย และสุรินทร์

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมีกรอบการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการฯ จำนวน 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือการลดปริมาณขยะและการส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง กลางทาง คือการจัดทำระบบเก็บขนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้หลักการ 3 ช : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ 3 Rs : Reduce Reuse Recycle ซึ่งได้แจ้งเกณฑ์การประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 โดยกำหนดให้จังหวัดรวบรวมผลการดำเนินงานการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (ตั้งแต่เดือนต.ค.65 – ก.ย.66) และจัดทำเอกสารผลงานที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด และส่งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อตรวจประเมินและคัดเลือกจังหวัดที่มีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 แล้ว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 ได้จัดการประชุมคณะกรรมการประกวดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2567 ที่ห้องประชุม 3201 อาคาร 3 ชั้น 2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผ่านระบบออนไลน์ เพื่อพิจารณาผลการตรวจประเมินและคัดเลือกจังหวัดที่มีการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2567 โดยมีผลการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินเพื่อจัดลำดับ ซึ่งจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” (กลุ่มจังหวัดต้นแบบ) การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนยั่งยืน จำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อุบลราชธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ลำพูน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ สตูล

นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาผลการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” กลุ่มการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” (กลุ่มทั่วไป) 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก จำนวน 5 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ มุกดาหาร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ภูเก็ต และรางวัลชมเชย ได้แก่ อุทัยธานีและชัยนาท 2.กลุ่มจังหวัดขนาดกลาง จำนวน 5 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เลย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ลำปาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ สุโขทัย และรางวัลชมเชย ได้แก่ นราธิวาสและตรัง 3.กลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ จำนวน 5 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สุรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ มหาสารคาม และรางวัลชมเชย ได้แก่ อุดรธานีและลพบุรี

กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 จนถึงปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายให้จังหวัดบูรณาการกลไกความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ คือภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ทุกระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหมู่บ้าน/ชุมชน โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ต้นทาง คือ การลดปริมาณขยะและการส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด กลางทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บและขนขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และปลายทาง คือ ขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

สำหรับแนวทางในการบริหารจัดการขยะนั้น ทุกพื้นที่มีการแบ่งการจัดการขยะออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะต้นทางโดยขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมทุกครัวเรือนเข้าร่วมเครือข่าย “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” (อถล.) จัดกิจกรรมส่งเสริมการนำขยะบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และสุ่มตรวจสอบการดำเนินงาน ต่อมาระยะกลางทาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีพื้นที่และถังขยะ หรือภาชนะที่ใช้รองรับขยะมูลฝอยแบบแยกประเภทในที่สาธารณะ ในสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง พร้อมมีการจัดเก็บขนขยะมูลฝอยแยกประเภท ขนของเสียอันตรายชุมชนไปยังจุดรวบรวมของเสียอันตรายของจังหวัด และหมู่บ้าน/ชุมชนมีการติดตั้งถังขยะ หรือ จุดรวบรวมมูลฝอยติดเชื้อชุมชน และระยะปลายทาง ส่งเสริมสนับสนุนให้ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง โดยการรวมกลุ่มพื้นที่การจัดการมูลฝอย (Clusters) และให้มีการขนขยะไปยังเจ้าภาพของกลุ่มพื้นที่ สำหรับของเสียอันตรายชุมชนและมูลฝอยติดเชื้อชุมชนให้ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง.