สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมรณรงค์ชุมชนปลอดยุงลาย “วิ่งไล่ยุง“ ในวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 16.30 น. โดยมีนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ต.สุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในวันนี้จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินกิจกรรมไปพร้อมกับส่วนกลาง และได้จัดกิจกรรมพร้อมกันทั้ง 25 อำเภอ เพื่อสร้างความตระหนัก และกระตุ้นเตือนให้ประชาชน เห็นความสำคัญของการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านตนเอง และในสถานที่สำคัญต่างๆ นำไปสู่การป้องกันการระบาดของโรค และเป็นการสนับสนุนให้ประชาชน
ได้ออกกำลังกาย ทำให้มีสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคและภัยสุขภาพ เป็นกิจกรรมเดิน–วิ่ง รณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ลดโรคไข้เลือดออกและไข้ปวดข้อยุงลาย ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และประชาชน โดยจะมีการดำเนินกิจกรรมพร้อมกันในวันนี้ทั้งประเทศ และรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2563
ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าฤดูการระบาด โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองเชียงใหม่ โรงพยาบาลนครพิงค์ เป็นต้น โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 400 คน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ในปี ๒๕๖๒ ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 125,235 ราย เสียชีวิต 131 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึงสองเท่า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พบผู้ป่วย 11,046 ราย สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 4 เท่า สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 3,847 ราย เสียชีวิต 8 ราย และพบผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 51 ราย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้มีการดำเนินมาตรการควบคุมโรค โดยรณรงค์ภายใต้กิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” แต่จากการสำรวจ ยังพบลูกน้ำยุงลายในสถานที่สาธารณะ ได้แก่ วัด โรงเรียน โรงแรม โรงงาน กว่าร้อยละ 30 และพบในชุมชนกว่าร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่า การจัดการปัญหาโรคติดต่อนำโดยยุงลาย จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน ในการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในบ้าน ชุมชน และสถานที่ทำงานของตนเอง อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง.
ทรงวุฒิ ทับทอง