นราธิวาส/ภาพ/ข่าว-นูอารีซ๊ะ ยะยือริ
มูลนิธิปูลังกำปง จับมือ อ.ส.ค. ลุยพื้นที่สีแดง อ.จะแนะ สำรวจเตรียม สร้างศูนย์ฟาร์มเรียนรู้การผลิตโคนมครบวงจร เกือบ 2 พันไร่ ยันสร้างคนสร้างอาชีพรายได้สู่ประชาชนอย่างยั่งยืน เสริมสร้างความมั่นคงพื้นที่
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 นาวาอากาศตรีสนั่น กัณหาชาติ ประธานมูลนิธิปูลังกำปง พร้อมด้วย นายดนัย สายนุ้ย หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมโคนม แห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค. และคณะฯ ได้เดินทางลงไปตรวจเยี่ยมดูงานในพื้นที่ โครงการบ้านเศรษฐกิจพอเพียงและ ฟาร์มตัวอย่าง ในโครงการพระราชดำริฯ บ้านไอบือแต ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส โดยผู้จัดการฟาร์มตัวอย่าง ฯ ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุป ข้อมูลทั่วไปในโครงการฯ ซึ่งมีพื้นที่ 1718 ไร่ มีที่อยู่อาศัย 150 หลัง และมีประชาชนในฟาร์ม ทั้งหมด 323 คน โดยกิจกรรมดำเนินงาน ด้านการเกษตร แบ่งเป็นสวนปาล์ม 660 ไร่ สวนไผ่ 7 ไร่ สวนมะนาว 5 ไร่ ด้านปศุสัตว์ เลี้ยงวัวโคนมจำนวน 34 ตัว ผลผลิตนมวัว ต่อตัวต่อวันประมาณ 10 ลิตร รวม 150 ลิตร ต่อวัน ส่วนใหญ่นำมาผลิตเป็นไอศกรีม เพื่อขายจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง
จากนั้นทางคณะได้ เดินทางไปบริเวณบ้านไอกรอส หมู่ 6 ต.จะแนะ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เพื่อดูสถานที่ และพื้นที่ที่จะจัดทำเป็นที่ตั้งศูนย์ฟาร์มเรียนรู้และการผลิตโคนม อ.จะแนะ จ.นราธิวาส บนเนื้อที่เบื้องต้น 718 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สวนยางพารา ลักษณะเป็นเนินไม่สูงชั้น มีถนนตัดผ่าน อำนวยความสะดวก โดยทางคณะฯ ได้พึ่งพอใจกับเนื้อที่และขอให้มีการขยาย เพื่อซื้อพื้นที่ ในการจัดพื้นที่ฟาร์มแบบครบวงจร ในเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 1,700 ไร่
ต่อมา นางพาตีเมาะ สะดียามู รอง ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และคณะฯ ได้พบปะและพูดคุยประชาชน ที่บริเวณหน้าสำนักงาน อบต.จะแนะ จ.นราธิวาส เพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ร่วมกว่า 500 คน เข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้ประชาชนต่างแสดงความดีใจและพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว
ด้าน นาวาอากาศตรีสนั่น กัณหาชาติ ประธานมูลนิธิปูลังกำปง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า มูลนิธิ น้อมนำศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินการ ทั้งนี้การเลือกพื้นที่พิเศษ คือ อำเภอจะแนะ จ.นราธิวาส จัดดำเนินการโครงการ 2 พื้นที่ คือ อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ทางทะเล และพื้นที่ทางบก คือ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ทั้งสองพื้นที่ อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายคนมองเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่การลงทุน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ท้องอิ่ม คุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นเหตุผลที่ มูลนิธิปูลังกำปง และ อ.ส.ค. จะดำเนินการให้บรรลุผล เพื่อสร้างศูนย์ฟาร์มเรียนรู้โคนม และการผลิต ตลอดจน ขยายปศุสัตว์นมสัตว์อื่นๆ ในอนาคต โดยการผลิต ที่หลักอนามัย ถูกหลักวิชาการ และถูกต้องตามโภชนาการ ฮาลาล ที่นี้จะเป็นศูนย์การผลิต แห่งหนึ่ง ที่มองถึงการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในโลกมุสลิมกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ประชาชนจะได้ความรู้ในการเรียนรู้ ในศูนย์เรียนรู้อย่างถูกต้อง สร้างอาชีพรายได้ คนในพื้นที่ จะเสริมเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ ตอบสนองนโยบายรัฐ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้านนายดนัย สายนุ้ย หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมโคนม แห่งประเทศไทย จากการพบประชาชนและลงพื้นที่ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ จุดภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ และความอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่จะทำเป็นพื้นที่ ศูนย์ฟาร์มเรียนรู้โคนม ประกอบกับเป็นความต้องการของประชาชน จึงเห็นสมควรอย่างยิ่งในการ ดำเนินการจัดทำโครงการลงทุนดังกล่าว จากการศึกษาพื้นที่ มีศักยภาพความพร้อม เมื่อการจัดทำฟาร์มฯ ครบวงจร เพราะทาง อ.ส.ค. มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านนี้โดยเฉพาะ ประชาชนจะได้ประโยชน์ ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ รวมถึงการสร้างรายได้ ครอบครัวที่ดีขึ้น ในส่วนโครงการนี้ มีความคืบหน้า ในข้อตกลง และดำเนินการแล้วคืบหน้า เกิน 80 เปอร์เซ็น ทั้งนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้โดยเร็ว จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ด้วย