ข่าว ลำพูน ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

เปิดงานแอ่วกาดแลง แยงกาดมืดเมืองหละปูน ในงานโคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน

8 พฤศจิกายน 2567 ที่ข่วงเจดีย์ชัยชนะ(ลานจอดรถห้างสรรสินค้าแจ่มฟ้าพลาซ่า) อ.เมือง จ.ลำพูน  นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดงาน “โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์จังหวัดลำพูน ประจำปึงบประมาณ 2567  โดยมี  นางเกศกนก เดชมา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน กล่าวรายงาน  มีนายโยธิน ประสงค์ความดี  นายชาตรี ธินนท์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ ประชาชน นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน  กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม”โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ประกอบด้วย  1. การประดับตกแต่งเส้นถนนและจุดแลนด์มาร์คของเมือง จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่

ถนนท่านาง ระยะทาง 160 เมตร ถนนอินทยงยศ (จากแยกวัดศรีบุญเรืองจนถึงห้างแจ่มฟ้า) ระยะทาง 570 เมตร และถนนรถแก้ว ระยะทาง 270 เมตร และการประดับตกแต่งเมืองในจุดแลนด์มาร์คของเมือง จำนวน 4 จุด ได้แก่

1). จุด “ประทีปแสงแห่งชีวี” ณ ข่วงเจดีย์ชัยชนะ บริเวณลานจอดรถห้างสรรพสินค้าแจ่มฟ้าพลาซ่า (ถนนอินทยงยศ) มีการประดับตกแต่งด้วยซุ้มโคมแปดเหลี่ยมประดับไฟบริเวณซุ้มประตูทางเข้าช่วงเจดีย์ชัยชนะทั้งสองข้างฝั่งถนนอินทยงยศ และถนนวังซ้าย และจะมีการจุดประทีปรอบองค์เจดีย์ชัยชนะในช่วงการจัดกิจกรรมตลาดวัฒนธรรม  2). จุด “ลอยสะเปาเล่าวิถี” บริเวณด้านหน้าประตูท่านาง เป็นการประดับตกแต่งด้วยโคมแปดเหลี่ยม และสะเปา หรือเรือสำเภาตามวิถีปฏิบัติของชาวหริภุญชัยในอดีต คือการทำสะเปากาบกล้วย เพื่อลอยในประเพณียี่เป็ง เชื่อมโยงกับประตูท่านางที่ทอดลงสู่ลำน้ำแม่กวง   3). จุด “ดาราจรัสศรีรุ่งเรืองรอง” ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน (หลังเก่า) มีการประดับตกแต่งโคมแปดเหลี่ยมเป็นแผงสองข้างริมรั้วศาลากลาง และโคมดาว สอดคล้องกับชื่อของจุดแลนด์มาร์ค   4). จุด “โคมแสงส่องบุญบันดาล” บริเวณประตูมหาวัน จุดนี้จะประดับตกแต่งด้วยโคมผัดขนาดใหญ่ ส่องไฟสว่างไสวและโคมล้านนารูปแบบอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม และสัมผัสความงดงามของโคมล้านนาในจังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ ได้กำหนดระยะเวลาการประดับตกแต่งเมืองรวม 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน – 8 ธันวาคม 2567

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษ “เช็ค & แชร์” ที่ให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพจุดแลนด์มาร์ค พร้อมเช็คอิน และแชร์ภาพกิจกรรมลงบนพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนเอง จนครบทั้ง 4 จุด สามารถ นำมาแลกรับของที่ระลึกได้ ณ จุดประชาสัมพันธ์งานบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ลำพูน (หลังเก่า) ได้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน – 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2567  สามารถติดตามกิจกรรมนี้ได้ผ่าน FACEBOOK FANGAFE โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน

กิจกรรมตลาดวัฒนธรรม “แอ่วกาดแลง แยงกาดมืดเมืองหละปูน” ณ ข่วงเจดีย์ชัยชนะ (ลานจอดรถด้านหลังห้างแจ่มฟ้าพลาซ่า ถนนอินทยงยศ) เพื่อย้อนรำลึกถึง “กาดมืด” ตลาดเช้าในอดีตชาวเวียงลำพูน โดยจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธธรรม สินค้าพื้นถิ่น สินค้าร่วมสมัย อาหารพื้นเมืองและอาหารร่วมสมัยกว่า 30 ร้านค้า มีงานศิลปหัตถกรรม การแสดงดนตรีพื้นเมืองและดนตรีร่วมสมัย การสาธิตภูมิปัญญาต่างๆ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านที่ให้ผู้คนหลากหลายวัยได้มาร่วมกิจกรรม โดยกำหนดจัดงานจำนวน 2 ครั้งๆ ละ 3 วัน ครั้งแรก จัดขึ้นในวันที่ศุกร์ 8 – วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 และครั้งที่สองจัดขึ้นในวันที่ศุกร์ 15 (วันลอยกระทง) – วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2567

ภายในงานมีกิจกรรมพิเศษ “ดับไฟ จุดประทีป” ย้อนรำลึกถึง “กาดมืด” หรือตลาดเช้าของชาวเวียงลำพูนในอดีต ที่มาจับจ่ายชื้อข้าวของในตลาดแต่เข้ามืด ณ บริเวณนีั ปัจจุบันเป็นลานจอดรถด้านหลังห้างแจ่มฟ้าพลาซ่า  ตั้งแต่เวลา 18.30 น. – 19.30 น. เพื่อรำลึกถึงบรรยากาศของ “กาดมืด” ในอดีต ของจังหวัดลำพูน เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจให้เกิดภายในชุมชน และสร้างการรับรู้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนมากยิ่งขึ้น

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าว่า  จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,400 ปี มีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ การจัดงาน “โคมเล่าเรื่องเมืองลำพูน” ในปีนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และขยายพื้นที่จัดงานโคมให้กว้างขวาง กระจายในหลายจุด สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ประวัติศาสตร์และย่านชุมชนในเขตเมืองเก่าได้มากขึ้น ผ่านการเล่าเรื่อง “โคม” กับ “เมือง” ในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่ถูกร้อยเรียงผ่านเรื่องราว ผู้คน สิ่งของ และเมืองอย่างผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพื่อยกระดับให้ “เทศกาลโคมแสนดวง” เป็นเทศกาลในระดับนานาชาติ สนับสนุนให้เทศกาลโคมแสนดวงให้ได้รับการบันทึกใน Guinness World Record Challenge เส้นทางโคมที่ยาวที่สุดในโลก (2 กิโลเมตร)   นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่าน Soft Power และการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้วัฒนธรรมและสินค้าท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน   และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับประชาชนในจังหวัดลำพูน ตลอดจนเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่วัฒนธรรมล้านนาให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ชื่นชม.