ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเกษตร ข่าวเด่น เกาะสมุย

ประมงอำเภอเกาะสมุยเผย ในพื้นที่ไม่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ

นายเชาวลิต เพชรน้อย ประมงอำเภอเกาะสมุย เปิดเผยว่า ตามที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่อำเภอแนวชายฝั่งทะเลที่เป็นพื้นที่น้ำกร่อย แต่ในส่วนของพื้นที่เกาะสมุยและเกาะพะงันไม่พบการระบาดเนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำเค็มสูงทำให้ ปลาหมอคางดำเจริญเติบโตวางไข่ไม่ดีพอ

ส่วนพื้นที่มีการระบาดหน่วยงานกรมประมงในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดลง เช่นที่ บริเวณอำเภอแนวชายฝั่งทะเลของจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานประมงจังหวัดฯได้แจ้งขอความร่วมมือชาวประมง หากพบแหล่งที่พบปลาหมอคางดำให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประมงทราบเพื่อเข้าควบคุมการแพร่ระบาด และยังมีการประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้านในราคา กิโลละ10บาท ทุกไซส์ รวมทั้ง คณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานในสังกัดกรมประมง ได้มีการจัดทำโครงการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะมีการร่วมบูรณาการการแก้ไขปัญหาการระบาด และร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำ ในวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ คาลาหมู่บ้านท่าม่วง หมู่ที่ ๗ ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วย

สำหรับ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 50 – 300 ฟอง หรือมากกว่าโดยขึ้นกับขนาดของแม่ปลา การฟักไข่ของปลาหมอคางดำใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลาโดยการอมไว้ในปากนานประมาณ 2 – 3 สัปดาห์

ปลาหมอคางดำกินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย รวมถึงลูกปลาวัยอ่อน ปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เป็นสาเหตุว่าทำไมปลาหมอคางดำ ถึงมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ เมื่อปลาชนิดนี้เข้าไปในระบบนิเวศน์จะทำลายปลาเล็กปลาน้อยที่เป็นตัวอ่อน ทำให้ปลาต่างๆค่อยสูญพันธุ์ได้