8 พฤษภาคม ฯพณฯ ดร. มาจิด บิน อับดุลลอฮ์ อัลกอซาบีย์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ซาอุดิอาระเบีย และประธานคณะกรรมการการองค์กร Saudi General Authority of Foreign Trade เยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 8 – 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 พร้อมคณะที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก 9 หน่วยงานภาครัฐ และ 85 หน่วยงานภาคเอกชน
การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียและราชอาณาจักรไทย ในขณะที่ความความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศกำลังมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในด้านต่างๆ ตลอดจนการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกระทรวงพาณิชย์ของไทยเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการประชุมสภาธุรกิจซาอุดีอาระเบีย-ไทย
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ จะมีการหารือของสภาธุรกิจซาอุดิอาระเบีย-ไทย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อแนะนำโอกาสและสร้างบรรยากาศการลงทุนระหว่างกันทั้งทางตรงและทางอ้อม และเพื่อสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองประเทศ เพื่อปรับปรุงบรรยากาศของความร่วมมือ รวมถึงการหารือความร่วมมือที่จะช่วยระงับข้อพิพาททางการค้าในทั้งสองประเทศด้วยวิธีเจรจาอย่างสันติไมตรี
การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทยเจริญก้าวหน้าอย่างชัดเจน เช่นมีการจัดงานแสดงสินค้าไทยครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นสองครั้งในช่วงปีพ.ศ. 2566ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าเชิงพาณิชย์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าชมนิทรรศการทั้งสองงานมากกว่า 40,000 คน โดยมีหน่วยงานและแบรนด์มากกว่า 300 รายเข้าร่วมโดยมีการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากมายทั้งในด้านบริการทางการแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม น้ำมันหอมจากไม่กฤษณา บริการการท่องเที่ยว อะไหล่รถยนต์ และอื่น ๆ
ในระหว่างการเยือนในครั้งนี้ ดร.มาจิด อัลกอซาบีย์จะเข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว
ทั้งนี้คณะของซาอุดิอาระเบียประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และผู้บริหารจากกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการลงทุน กระทรวงการท่องเที่ยว กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม กระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผน องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย หน่วยงานพัฒนาการส่งออก กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ และบริษัทขนาดใหญ่ของซาอุดีอาระเบียหลายบริษัท
อนึ่ง ปริมาณการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปี พ.ศ. 2566 มีมูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกจากซาอุดิอาระเบียได้แก่ผลิตภัณฑ์แร่และปุ๋ย ในขณะที่รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและเครื่องมือกลต่างๆเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังซาอุดิอาระเบีย
ตอริก สหสันติวรกุล รายงาน