แม่ทัพน้อยที่ 3 เผยการแก้ไขปัญหาปลูกฝิ่นลดลงเร่งตามหาตัวนายทุน ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อยสรุปสถานการณ์ปัญหาฝิ่นยาเสพติดและปัญหาความมั่นคงที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อำเภออมก๋อย รอบ 6 เดือน ห้วงเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2562
พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่อำเภออมก๋อย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมทองจัตุ กองกำลังผาเมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานด้านการข่าวและการสืบสวนสอบสวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผ่านมา พบว่า ยังคงมีพื้นที่หมู่บ้าน/หย่อมบ้าน และบุคคลที่มี
พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการปลูกฝิ่นและเป็นนายทุนผู้ค้าฝิ่นอีกทั้งเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายและความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ที่ยังคงมีความเชื่อมโยงและมีความเคลื่อนไหวที่อาจทำให้สถานการณ์ปัญหาการปลูกฝิ่นในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ยังคงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในห้วงต่อไปได้
ส่วนสถานการณ์ผู้ค้ารายย่อย นายทุน ผู้มีอิทธิพล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝิ่นพื้นที่อ.อมก๋อย ที่ผ่านมาพบว่า จากข้อมูลประชุมติดตามสถานการณ์ด้านการข่าวล่าสุดมีเครือข่ายรายสำคัญ จำนวน 5 เครือข่าย 19 รายจากสถิติการตรวจพบการลักลอบปลูกฝิ่นพื้นที่อำเภออมก๋อย ตั้งแต่ปี 2556/2557 จนถึงปัจจุบัน ได้ตรวจพบลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2561/2562 ยังพบการลักลอบปลูกฝิ่นลดลงจากปีที่แล้ว จำนวน 30.12 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 53.23ขณะที่ยาเสพติดประเภท ยาบ้า และไอซ์ มีแนวโน้มเข้ามาทดแทนฝิ่นที่กำลังลดลงไปเนื่องจากยังคงมีเยาวชนกลุ่มเสี่ยงที่ไปทำงานนอกพื้นที่และนำมาแพรระบาดในพื้นที่อำเภออมก๋อย ซึ่งจากสถิติการจับกุมยังคงพบยาบ้าและไอซ์อยู่ โดยเฉพาะยาบ้ายังคงปริมาณสูง ทั้งนี้มีหมู่บ้านที่รุนแรง จำนวน 31 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 55 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย จะบูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมพื้นที่แพร่ระบาดในหมู่บ้าน/หย่อมบ้านเป้าหมายของพื้นที่อำเภออมก๋อยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับสถานการณ์ปัญหาการปลูกฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงพื้นที่ อ.อมก๋อย จ. เชียงใหม่นั้น สามารถควบคุมสถานการณ์และลดปัญหาในวงกว้างได้ อย่างไรก็ตามปัญหาฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงในพื้นที่อำเภออมก๋อย มีพื้นฐานจากปัญหาความยากจนและการขาดโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางแนวทางให้สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนที่แท้จริง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างระบบป้องกันกลุ่มเสี่ยงและการปราบปราม กดดันผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจริงจังแล้ว ก็จะทำให้สถานการณ์ปัญหาฝิ่น ยาเสพติดและความมั่นคงพื้นที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้ต่อไป.
ทรงวุฒิ ทับทอง