พะเยา ฟันธงใช้พื้นที่ ต.แม่กา – จำป่าหวาย เร่งขับเคลื่อนการก่อสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา
วันที่ 9 มกราคม 2563 นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน และสนับสนุนโครงการศึกษาตามความเหมาะสมพื้นที่และความเป็นไปได้สำหรับการก่อสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา และคณะทำงานศึกษาความเหมาะสมพื้นที่และความเป็นไปได้สำหรับการก่อสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา ที่ห้องประชุมภูกามยาวชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา โดยหัวหน้าส่วนราชการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเทศบาลตำบลแม่กา ได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสม พื้นที่ก่อสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา และชี้นำจุดตำแหน่งที่ตั้งโครงการก่อสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา รวมถึงการออกแบบเบื้องต้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพะเยา และในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่มีความสะดวกทันสมัย และได้มีการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดพะเยา (กบจ.) ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานฯ เห็นชอบในหลักการ
โดยให้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงการศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ก่อสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา จากส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงการดังกล่าว ต่อมาจังหวัดพะเยาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน และสนับสนุนโครงการศึกษาความเหมาะสมพื้นที่ก่อสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา เพื่อพิจารณาตรวจสอบความถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ขั้นตอน ระเบียบกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาความเห็น และข้อเสนอแนะในการศึกษาความเหมาะสม พื้นที่ก่อสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา ในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ด้านการใช้ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม , ด้านโครงข่ายคมนาคม , ด้านโครงสร้างพื้นฐาน , ด้านผังเมือง , ด้านวิชาการ , ด้านการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆในการสนับสนุนภาคเอกชน และด้านการจัดการรองรับความเจริญเติบโตการสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา ขณะเดียวกันเครือข่ายการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสนามบินเชียงคำ ก็ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนโครงการก่อสร้างสนามบินเชียงคำอีก 1 ชุด และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้ประชุมมอบนโยบาย การขับเคลื่อนการผลิต และการตลาดสินค้าเกษตรจังหวัดพะเยา “พะเยาโมเดล” พร้อมทั้งเรื่อง การก่อสร้างสนามบิน โดยมอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาในการสร้างสนามบินด้วยนั้น
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งทำการศึกษาความเหมาะสมและเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยงานรวบรวม และศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจ และสังคมของบริเวณที่ศึกษา การสำรวจความเหมาะสมเกี่ยวกับจุดที่ตั้งสนามบิน , การศึกษาผลกระทบด้านวิศวกรรมจราจร สำรวจเก็บข้อมูล และคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการ และจำนวนเที่ยวบิน , ศึกษาทางเลือกตำแหน่งจุดที่ตั้งของสนามบินที่มีความเหมาะสม , การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น , การรับฟังความคิดเห็น และมีการมีส่วนร่วมการนำเสนอผลการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการก่อสร้างสนามบินจังหวัดพะเยา โดยใช้งบประมาณในการศึกษาและดำเนินการ เป็นงบกลางปี 2563 โดยให้มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาฯ ทั้งนี้ให้ดำเนินการขับเคลื่อนการก่อสร้างสนามบินรวม ถึงการศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสนามบินในจังหวัดพะเยา โดยให้ดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป
โดยในที่ประชุมมีหลายหน่วยงานเสนอให้ใช้พื้นที่ในตำบลแม่กา และตำบลจำป่าหวาย เนื่องจากมีการศึกษาไปแล้วในเบื้องต้นทั้งในเรื่องของการสำรวจพื้นที่โดยทางเทศบาลตำบลแม่กา ความได้เปรียบทางด้านกายภาพ เช่น ใกล้กับศูนย์การแพทย์ฯ และมหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงพื้นที่ ที่จะใช้ทำสนามบินที่ทางเทศบาลตำบลแม่กาเคยให้ข้อมูลไว้ว่ามีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2,500 ไร่ ซึ่งจะสามารถรองรับการก้อสร้างสนามบินได้ ที่มีความยาวของรันเวย์สนามบินได้ ขณะเดียวกันก็มีภาคเอกชนในพื้นที่ดอกคำใต้ เสนอที่จะรวบรวมที่ดินร่วมลงทุนในการก่อสร้างสนามบินด้วย สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างฯนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการก่อสร้างอย่างเป็นระบบ
สำหรับสถานที่ ที่ อ.เชียงคำ เบื้องต้นเห็นระยะทางว่ารันเวย์อาจไม่เหมาะสมในเรื่องความมั่นคง เนื่องจากใกล้แนวชายแดน รวมถึงความยาวสนาม ดังนั้นจังหวัดจึงมีแผน จะทำเป็นสนามบินเพื่อการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่อไป.