Uncategorized

“คณะ ๙๙ การละคร” ทวนกระแสโซเชียล ปลุกละครวิทยุ สืบสานตำนานศิลปะพื้นบ้านอีสาน

“คณะ ๙๙ การละคร” ทวนกระแสโซเชียล ปลุกละครวิทยุ สืบสานตำนานศิลปะพื้นบ้านอีสาน
“ละครวิทยุ” เป็นสิ่งบันเทิงที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อยุคดิจิทัลเข้ามาทำให้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป มีการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ อย่างอินเทอร์เน็ต หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สื่อยุคเก่าต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะละครวิทยุแทบล้มหายตายจากไปกับกาลเวลาที่ผ่านมา
เกือบ ๕๐ ปีที่แล้ว ถ้าพูดถึงคณะละครวิทยุพื้นบ้าน ภาษาไทยอีสาน ที่ผู้ฟังรู้จัก มีเพียงไม่กี่คณะเท่านั้น มีคณะหนึ่งเมื่อเอ่ยชื่อ ผู้ฟังในยุคนั้นต้องรู้จักเป็นอย่างดี นั่นคือ “คณะ ๙๙ การละคร” หลังจากยุบวงไปนานกว่า ๑๕ ปี อาจารย์มะลิดา ปทุมธนทรัพย์ ผู้อำนวยการสถาบันวาทศิลป์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดินดิน จำกัด ประกาศสร้างตำนานใหม่อีกครั้ง ด้วยการปลุกคืนชีพละครวิทยุขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “คณะ ๙๙ การละคร ๒๕๖๑” และเตรียมออกอากาศ ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๒ นี้ พร้อมกันกว่า ๑๐ สถานี จนครบ ๙๙ สถานี ในโครงการ “๙๙คลื่น ๙๙ ตอน กับ คณะ ๙๙ การละคร ๒๕๖๑” ภายใต้สโลแกน “สืบสานตำนาน ศิลปะละครวิทยุพื้นบ้าน ภาษาอีสานถึงแก่น” 

 

อาจารย์มะลิดา ปทุมธนทรัพย์ ผู้อำนวยการสถาบันวาทศิลป์ หรือที่บรรดาลูกศิษย์จะเรียกว่า “อ.ดา” กล่าวว่า เริ่มต้นอาชีพนักพากย์กับคณะ ๙๙ การละคร เมื่อปี ๒๕๓๑ โดยการชักนำของ “ชัยกมล ชุมชนสัมพันธ์” หรือ อาจารย์ชัยกมล รุ่งเรืองเวทย์ ตอนนั้นพูดภาษาไทยอีสานไม่เก่ง อ่านบทภาษาอีสานไม่เข้าใจ เลยได้พากย์ทีละน้อยโดยท่องบทจากเสียงผู้ใหญ่อ่านให้ฟังก่อน จนเริ่มคล่องพ่อชัยกมลก็ให้ขึ้นบทนางเอกของคณะ ต่อมาปี ๒๕๔๑ หลังเกิดภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง จึงจำต้องยุบคณะ จาก ๘ คน ก็เหลือเพียง ๒ คน คือ อ.ชัยกมล ชุมชนสัมพันธ์ ที่เป็นผู้เล่าเดินเรื่อง นักพากย์เสียงผู้ชายทั้งหมด และ อ.ดา เป็นนักพากย์เสียงผู้หญิงทั้งหมด
จนถึงปี ๒๕๔๗ อ.ดา จึงแยกออกมาก่อตั้งสถานีวิทยุ ที-สไมล์ เรดิโอ ๑๐๖ FM ในปลายปี ๒๕๔๗ และก่อตั้ง “สถาบันวาทศิลป์” ณ บ้านเลขที่ ๒๖๙ บ้านพารวย ถนนเทพารักษ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น สอนการพูดและบุคลิกภาพ แม้จะแยกตัวออกมา แต่ก็ยังคงได้ใช้ความสามารถด้านงานพากย์ละคร จนปัจจุบัน ด้วยการเป็นผู้อำนวยการผลิต, ผู้เขียน, นักพากย์ ในการผลิตผลงานเพื่อแจกเป็นธรรมทาน ภายใต้ชื่อ “มะลิดาหาเรื่องเล่า” อัลบั้ม ๑-๗ โดยเผยแพร่แจกเป็นซีดี และลงใน YouTube ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ – ปัจจุบัน ” 

 

ผู้อำนวยการสถาบันวาทศิลป์ กล่าวถึงเจตนารมณ์ที่มาก่อตั้งคณะละครขึ้นมาใหม่ว่า หลายครั้งในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะก่อตั้ง และฟื้นคณะละครขึ้นมาใหม่ จนนายปัญญา ศรีกุลวงศ์ ผู้ประพันธ์บทเกิดความท้อแท้ จากการเขียนบทและพากย์เสียงไว้แล้ว แต่ไม่เคยได้ออกอากาศมานับครั้งไม่ได้ และในหลายครั้งนั้น อ.ดา ก็ร่วมพากย์อยู่ด้วย ผู้ประพันธ์บท จึงเปรยกับอาจารย์ดาว่า เป็นหัวหน้าคณะตั้งขึ้นใหม่ ให้ลุงได้เห็นอีกสักครั้ง ทิ้งทวนผลงานก่อนตาย ได้ไหม คำๆ นี้คำเดียวเลย จึงจับมือกันสร้างผลงานสืบสานตำนาน อนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่คู่คนไทยอีสานสืบไป นายปัญญา ศรีกุลวงศ์ ผู้ประพันธ์บทละคร และนักพากย์ในตำนาน ด้วยวัย ๘๐ ปี กล่าวว่า สมัยนั้นตนและคุณชัยกมล รุ่งเรืองเวทย์ ได้ร่วมกันก่อตั้ง คณะ ๙๙ การละครขึ้น เมื่อปี ๒๕๑๙ โดยการชักนำของ นายห้างชูรัตน์ เกษียณสินธุ์ และเสน่ห์ ดาวจำลอง และได้โรงงานไท้อันโอสถ เป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ โดยมีผู้ฟังคนไทยอีสาน คอยติดตามรับฟังผ่านสถานีวิทยุในระบบ AM และ FM ทั่วประเทศในสมัยนั้น ผู้ร่วมคณะในยุคก่อตั้งคือ ชัยกมล รุ่งเรืองเวทย์ ,อรสา ศรีเมืองทอง ,เพิ่มพร วงษ์ละ ,รัตติกูล (จำสกุลไม่ได้) ,เติมศักดิ์ วงศ์ละคร ,ปัญญา ศรีกุลวงศ์ ,ป ปลาตากลม และใช้ห้องบันทึกเสียง “ภิญโญโฆษณา” (อาคารใกล้กับโรงหนังแก่นคำเดิม) ของนายห้างภิญโญ เกษียณสินธุ์ จะมีนักพากย์ ๖-๘ คน มาบันทึกเสียงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ตนยังแต่งบทหมอลำหมู่ไว้ประมาณ ๑๐ เรื่อง คำกลอนหมอลำประมาณ ๑๐๐ กลอน แต่ไม่ได้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนเพราะไม่มีทุนสำหรับพิมพ์จำหน่าย เคยได้เขียนบทหมอลำให้คณะระเบียบวาทะศิลป์ หลายเรื่อง แต่ยังไม่ได้แสดงเพราะคุณระเบียบเสียชีวิต 

นายปัญญา ศรีกุลวงศ์ ยังกล่าวถึงการกลับมาคืนบัลลังก์อีกครั้งว่า เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๑ อาจารย์มะลิดา มาตามหาผมหลังไม่ได้พบกันเกือบ ๒๐ ปี ได้พูดคุยกัน และตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งคณะละครขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยผมรับหน้าที่เป็นผู้เขียนบทละคร และพากย์ ใช้ชื่อ “คณะ ๙๙ การละคร ๒๕๖๑” เพื่อสืบสานศิลปะละครวิทยุพื้นบ้าน ภาษาไทยอีสานแบบถึงแก่น ที่ผมถนัด ไม่ให้สูญหายไป มีอาจารย์มะลิดา ปทุมธนทรัพย์ เป็นหัวหน้าคณะ, ผู้ควบคุมการผลิต แล พากย์ ให้ บริษัท ดินดิน จำกัด เป็นผู้อำนวยการสร้าง อ.มะลิดา กล่าวถึงการวางแนวคิดในการทำงานครั้งนี้ว่า ยุคต้นคณะเรา จะเน้นด้านธรรมะแทรกแง่คิด สะกิดใจ โดยนำเรื่องจริงในตำนาน และนิทานชาดก รวม ๑๐ เรื่อง ๙๙ ตอน ๙๙ คลื่น (สถานีวิทยุ) ตามชื่อโครงการ โดยจะเริ่มออกอากาศในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๒ นี้ เป็นต้นไป พร้อมกันกว่า ๑๐ คลื่นก่อน ในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง และจะขยายจนครบ ๙๙ คลื่น ๙๙ สถานี ซึ่งสามารถติดตามได้ทางเพจของคณะ ๙๙ การละคร ๒๕๖๑ 

โดยเรื่องแรกที่ออกอากาศ คือ “พระเตมีย์ใบ้” ส่วนทีมงาน เรามีทีมนักพากย์ในตำนาน 3 ท่าน ได้แก่ นายปัญญา ศรีกุลวงศ์ ,นางสมฤดี แก้วไกรศร และนางสาวมะลิดา ปทุมธนทรัพย์ พร้อมนักพากย์รุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีมอีก 3 คน ได้แก่ นายเชิญชัย ผาสุข ,นางสาวพรพิมล ตรังคานนท์ และนายอังกูร พินพิสิทธิ์ นอกจากนั้นยังมีทีมงานเบื้องหลัง ฝ่ายตัดต่อเสียง ฝ่ายกราฟฟิก ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ที่รวมพลังมาช่วยกัน ขับเคลื่อนอย่างมืออาชีพด้วยความทุ่มเท เพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพ และยั่งยืนต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะออกอากาศทางสถานีวิทยุแล้ว จะลงผลงานในสื่อออนไลน์ให้ได้ฟังกันอย่างกว้างขวางต่อไป
เมื่อถามไถ่ถึงความรู้สึกของนักพากย์รุ่นใหม่ นายเชิญชัย ผาสุข ได้บอกเล่าถึงความรู้สึก ของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะ ๙๙ การละคร ๒๕๖๑ ว่า โดยส่วนตัวเคยติดตามผลงานของคณะ ๙๙ การละคร และรู้จักกับอาจารย์ปัญญา และอาจารย์มะลิดา มากว่า 15 ปี แล้ว และชื่นชมในผลงาน ฝีมือ ประสบการณ์ แต่ไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสมาร่วมทำงานแบบนี้ กับอาจารย์มะลิดา ตนเคยทำงานจิตอาสากรรมการชมรมสื่อสร้างสรรค์ และสมาคมสื่อมวลชนขอนแก่น อีกทั้งเคยไปเรียนที่สถาบันวาทศิลป์ของอาจารย์มะลิดา 

เมื่ออาจารย์มะลิดา เปิดโอกาสชวนให้ร่วมงานกับคณะ ๙๙ การละคร ๒๕๖๑ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง แต่ด้วยประสบการณ์ด้านงานพากย์ละครยังน้อย จึงมีความกังวลใจอยู่บ้าง แต่เมื่อคิดว่าเป็นโอกาสที่ได้ร่วมสืบสานศิลปะละครวิทยุพื้นบ้านและอนุรักษ์ภาษาไทยอีสานแบบถึงแก่น รวมทั้งเชื่อมั่นในความสามารถของอาจารย์ทั้งสองท่าน จึงตัดสินใจร่วมงานอย่างเต็มใจ และเต็มความสามารถ เพื่อเป็นการร่วมสร้างตำนานให้ชนรุ่นหลังได้จดจำ
“การทำงานครั้งนี้มุ่งหวังให้คนไทยชาวอีสาน มีความสุข และความภาคภูมิใจ ในภาษาถิ่นของตน คำหลายๆคำไม่ถูกใช้ก็ลืม ภาษาอีสานเป็นภาษาที่ร่ำรวยคำมากเหลือเกิน เราอยากให้ทุกท่านลองฟัง คณะเราใช้ภาษาอีสานกลาง ดังนั้นคนที่พูดภาษาอีสานไม่ได้ ก็ฟังเข้าใจได้ง่า ได้ทั้งความสนุก ความรู้ และอิ่มเอิบในธรรมะ จึงขอกำลังใจและแรงสนับสนุนจากทุกท่าน และขอกราบขอบพระคุณ ผู้ให้การสนับสนุน, พี่ๆ สื่อมวลชนทุกแขนง, สถานีวิทยุที่ร่วมโครงการ ตลอดจนผู้ฟังทุกท่านด้วยนะคะ” อาจารย์มะลิดา กล่าวในที่สุด