อนุฯ ด้านสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ.
วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นำทีมคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ รพ.สต. บ้านดอนมูล อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อติดตามสถานการณ์การจัดและการให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ สอน. และ รพ.สต. ให้กับ อบจ. โดยมี นายทศพร ผ่องศรีสุข ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองน่าน พันจ่าเอก นภดล พรมรักษา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ. น่าน นางธนน์ธรณ์ ใจทา ผู้อำนวยการ รพ.สต. บ้านดอนมูล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. บ้านดอนมูล และ อสม. ในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
รพ.สต. บ้านดอนมูล มีบุคลากร จำนวน 10 คน รับผิดชอบดูแลประชากร 7 หมู่บ้าน 1,469 หลังคาเรือน 4,887 คน โดยให้บริการประชาชนสิทธิประกันสุขภาพ ร้อยละ 56.23 สิทธิข้าราชการ ร้อยละ 22.53 สิทธิประกันสังคม ร้อยละ 18.66 และสิทธิข้าราชการท้องถิ่น ร้อยละ 2.37 ทำให้ รพ.สต.
มีรายได้จากการให้บริการสิทธิต่าง ๆ รวมทั้งรายได้จากเงินช่วยเหลือจากงบทั่วไปตามขนาด รพ.สต.
รายได้จากกองทุน สปสช. เทศบาลตำบลดู่ใต้ รายได้จากเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) รายได้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า P&P แบบเหมาจ่ายต่อผู้มีสิทธิ ส่วนรายจ่ายสูงสุดของ รพ.สต. คือ ค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน รายวัน และรายคาบ ทั้งนี้ รพ.สต. บ้านดอนมูล มีการปรับบทบาทของบุคลากรให้สอดคล้องกับภาระงานและจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละหมู่บ้านดำเนินงานร่วมกับ อสม. และจัดประชุม เพื่อรวบรวมปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชนในแต่ละหมู่บ้านนำมาแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่าย และจัดบริการรักษาพยาบาล
ในด้านต่าง ๆ อาทิ คลินิกโรคความดันโลหิตสูง คลินิกสุขภาพเด็กดี คลินิกโรคเบาหวาน ในปี 2566 มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาศักยภาพตำบลควบคุมและป้องกันโรคติดต่อเข้มแข็งแบบยั่งยืน โครงการเสริมสร้างความรอบรู้ ค้นหาโรควัณโรคในกลุ่มเสี่ยงในชุมชนและพัฒนาระบบบริการดูแลผู้ป่วยวัณโรค รพ.สต. บ้านดอนมูล โครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนมูล โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำอนามัยแม่และเด็ก โครงการรวมพลังชุมชนควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก โครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ
การเปลี่ยนแปลงหลังการถ่ายโอน รพ.สต. บ้านดอนมูล ได้รับความอนุเคราะห์จากนายแพทย์ สสจ. เป็นผู้ควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของบุคลากรในสังกัด รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอน และมีโอกาสในการพัฒนาการทำงานตามบริบทปัญหาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นและมีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานในชุมชนทั้งเชิงรับและเชิงรุกได้ครอบคลุมมากขึ้นจากเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างบุคลากร สวัสดิการของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ดีขึ้น สามารถจ้างลูกจ้างฝ่ายสนับสนุนได้ตามกรอบโครงสร้าง เช่น เจ้าหน้าที่การเงินการบัญชี การจัดซื้อครุภัณฑ์มีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น เช่น การจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย (โรงพยาบาลน่าน)
เช่น บุคลากรทางการแพทย์ในการออกตรวจ ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ยา และเวชภัณฑ์
ปัญหาและอุปสรรค คือ การจัดสรรบุคลากรไม่ได้ตามโครงสร้างที่กำหนด งบประมาณที่ได้รับการอุดหนุนจากสำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นตามขนาด รพ.สต. ไม่เป็นไปตามที่กำหนด และเกิดช่องว่างระหว่างการถ่ายโอนในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ การประสานงาน เช่น การเบิกจ่ายวัสดุสำหรับบริการประชาชน ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่คณะอนุกรรมาธิการพบในหลายพื้นที่ คือ การกรอกข้อมูลตามตัวชี้วัดที่มีจำนวนมาก ทั้งตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขและ อบจ. ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานควรหารือร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนให้กับ รพ.สต. เพื่อลดภาระงานให้กับบุคลากรในการกรอกข้อมูลดังกล่าว และสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน