“หมอเจตน์ เดินหน้าลงพื้นที่จังหวัดเลย ติดตามการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ.”
วันที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ รพ.สต.บ้านหินตั้ง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา นำโดยนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ รพ.สต. บ้านหินตั้ง โดยมี นางช่อชบา สังสีเมฆ ผู้อำนวยการ รพ.สต. บ้านหินตั้ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมจัดการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็น “การจัดการบริการสาธารณสุข และผลกระทบจากการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบจ.” ตลอดจนแนวทางการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย รับถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งจังหวัดรวม 31 แห่ง ในจำนวนทั้งสิ้น 127 แห่ง บุคลากรถ่ายโอนรวมทั้งสิ้น 204 คน เป็นข้าราชการ 125 คน และลูกจ้าง 79 คน รพ.สต. บ้านหินตั้ง เป็น รพ.สต. ขนาดกลาง ถ่ายโอนไป อบจ. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 รับผิดชอบ 8 หมู่บ้าน 1,122 ครัวเรือน ประชากรรวม 1,293 คน มีบุคลากรข้าราชการ 4 คน และลูกจ้าง 2 คน ช่วงรอยต่อการถ่ายโอนมีการทำความตกลงร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเพื่อร่วมกันให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามเดิม และดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทั้ง อสม. โรงเรียน ผู้นำชุมชุม สสอ. โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ มีการพัฒนา อสม. เป็นหมอประจำบ้าน ซึ่งสามารถช่วยการดำเนินงานบริการสุขภาพประชาชนได้อย่างมากทำให้ประชาชนได้รับบริการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด
สำหรับปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานของ รพ.สต. ภายหลังการถ่ายโอน พบว่า การจัดสรรงบประมาณทั้งด้านงบบุคลากร เงินเดือน และงบบริหารจัดการที่ล่าช้า เนื่องจากอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนในระยะแรก รวมทั้งปัญหาอัตรากำลังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ มีการแก้ไขปัญหาโดย อบจ. เลย ได้ให้การสำรองการจ่ายเงินเดือนบุคลากร และจะได้มีการหารือร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเพื่อติดตามการดำเนินการโดยเร่งด่วนต่อไป
ในโอกาสนี้ คณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ โดยแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจแก่บุคลากร รพ.สต. ที่มีการดำเนินงานภายหลังการถ่ายโอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีผลกระทบด้านบริการต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์ LCT ระดับตำบล เพื่อดูแลกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน และผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน และเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง ควรมีการพัฒนาศักยภาพ อสม. ให้เป็นผู้มีความรู้ทันสมัยและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนได้อย่างครอบคลุม และควรมีการมุ่งเน้นการส่งเสริมป้องกันโรคเพื่อเป็นการป้องกันก่อนการรักษาสุขภาพของประชาชน
นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ หากสุขภาพช่องปากดีจะส่งผลต่อส่งต่อสุขภาพที่ดีโดยรวม จึงควรมีการส่งเสริมสุขภาพช่องปากประชาชนในทุกวัย โดยเฉพาะในโรงเรียน และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ควรมีการมุ่งเสริมไอโอดีนสำหรับประชาชนตั้งแต่กลุ่มวัยเด็กเพื่อป้องกันปัญหาการขาดไอโอดีนของประชาชน สำหรับด้านการดูแลสุขผู้สูงอายุ จำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรด้าน Care Giver และ Care Manager เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มีอยู่และจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป
จากนั้น เวลา 14.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ รพ.สต. ธาตุ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมีนางสังเวียน สีแดงน้อย ผู้อำนวยการ รพ.สต. ธาตุ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
รพ.สต. ธาตุ มีจำนวนประชากรที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รพ.สต. จำนวน 7,083 คน แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 3,376 คน คิดเป็นร้อยละ 47.69 และเพศหญิง จำนวน 3,707 คน คิดเป็นจำนวนร้อยละ 52.34 โดยมีพยาบาลวิชาชีพ แพทย์แผนไทย และนักวิชาการสาธารณสุข 1 คน ต่อ 7,083 ประชาชน ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพในชุมชน เช่น โรค NCDs ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง อุบัติเหตุ เช่น เด็กจมน้ำ และโรควัณโรค สำหรับการขึ้นทะเบียน PCU/NPCU ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลเชียงคาน เช่น การสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ การสนับสนุนบุคคลากรทางการแพทย์ โดยแต่งตั้งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในการดำเนินงาน NPCU ทั้งนี้ งบการเงินและบัญชี มีเงินคงเหลือปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 คงเหลือ 1,781,044.10 บาท พร้อมทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สปสช.
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยมี Care Giver ในเขตรับผิดชอบของ รพ.สต. ธาตุ จำนวน 9 คน การรักษาผู้ป่วยโรค NCDs พร้อมทั้งมีรูปแบบให้บริการคลินิก แบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวและผู้ป่วยสีเหลือง การจัดบริการในคลินิกเด็กดี งานทันตสาธารณสุข และงานแพทย์แผนไทยที่ได้รับการรักษาด้วยยากัญชาทางการแพทย์ สำหรับผลงานเด่นและนวัติกรรมสุขภาพ เช่น นวัตกรรมตะกร้าพิชิตโควิด 19 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาและรักษาผู้ป่วยได้อย่างคลอบคลุมากยิ่งขึ้น และมีการลงพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อแยกกักผู้ป่วย ปัญหาและอุปสรรคที่พบ คือ ภาระงานของเจ้าหน้าที่มีมาก และค่าตอบแทนน้อย โดยเฉพาะลูกจ้างชั่วคราว รวมทั้งปัญหาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของเจ้าหน้าที่พยาบาล ซึ่งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และนำไปสู่การตัดสินใจของบุคลากรที่ต้องการถ่ายโอนไป อบจ. ทำให้ต้องเกลี่ยพยาบาลวิชาชีพไปปฏิบัติหน้าที่ให้เพียงพอใน รพ.สต. ที่พยาบาลวิชาชีพถ่ายโอนไป อบจ. ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเสนอในประเด็นดังกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ถ่ายโอน โดยจะได้นำไปประกอบการพิจารณาและนำเสนอไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อลดภาระงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ต้องกรอกตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุข และอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็ก ทั้งนี้ ควรส่งเสริมการให้ความรู้กับประชาชน ผู้ปกครอง และเด็ก ๆ ในชุมชน และการเตรียมอุปกรณ์เพื่อให้นำไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการศึกษาการฝึกทักษะการว่ายน้ำและการป้องกันตนเองจากอุบัติเหตุทางน้ำ รวมถึงการช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบภัย และสนับสนุนให้มีการนำการแพทย์แผนไทยมาส่งเสริมการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ของหน่วยบริการได้ โดยอาจเพิ่มเติมบริการแพทย์แผนไทยที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งคณะกรรมาธิการได้เยี่ยมชมการดำเนินงานและให้กำลังใจบุคลากรของ รพ.สต. ธาตุ อีกด้วย
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน