จังหวัดร้อยเอ็ด จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 ขานรับ มติ UN เพื่อการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2561 นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี 2561 ที่ ห้องประดับเพชร โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด ผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่ม องค์กร ภาคีเครือข่าย สื่อมวลชนทุกแขนง ตลอดทั้งนักเรียน นักศึกษาและประชาชนชาวจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมงานเป็นจำนวยมาก
นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า วันต่อต้านคอร์รัปชันสากลถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่แห่งสมัชชาสหประชาชาติ (United Nation) หรือ UN ได้มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 อย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ต่อจากนั้น ประเทศภาคีสมาชิก UN จำนวน 191 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ก็ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ดังนั้น องค์การ
สหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและพยายามร่วมมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในหลายประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตขึ้น รวมทั้งในประเทศด้วย และมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดทั้งการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรง ที่สร้างความเสียหายและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ สำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและเป็นองค์กรหลักในการประสานความร่วมมือและบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตจากปัญหาการทุจริตที่รุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย โดยดูจากดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี พ.ศ. 2560 ซึ่งจัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
(Transparency International) พบว่าประเทศไทย ได้คะแนน 37 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 96 จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปีนี้ปรากฏว่ากว่าร้อยละ 70 ของจำนวนประเทศที่นำมาจัดอันดับสอบตก หรือมีคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง จากผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่สำคัญมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยการแสดงพลังและเจตนารมณ์ให้พี่น้องประชาชนชาวไทยและผู้คนทั่วทั้งโลกได้เห็น และตระหนักถึงภัยจากการทุจริต โดยทุกประเทศทั่วโลก ต่างก็ร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งกำหนดขึ้นอย่างเป็นสากลในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี โดยการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 รัฐบาลและสำนักงาน ป.ป.ช. ได้กำหนดให้ทุกจังหวัดจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมและทุกภาคส่วน ได้ตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริต
กิจกรรมในครั้งนี้ นับเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาคีเครือข่าย หน่วยงาน และ ทุกภาคส่วน ร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตและลดปัญหาทุจริตในประเทศไทย เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ และสร้างกลุ่มเครือข่ายป้องกันการทุจริตที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต การยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก และการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (corruption perception index : CPI) ของประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้น ต่อไป
////////////////////////////////////
ศรีไพร ทูลธรรม ร้อยเอ็ด รายงาน