คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรมเภสัชอาสาพาชุมชนยั่งยืน
คณะเภสัชศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.ภก สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ พร้อมด้วยรองคณบดี อาจารย์ และ นิสิต จากคณะเภสัชศาสตร์ ลงพื้นที่จัดกิจกรรม เภสัชอาสาพาชุมชนยั่งยืน ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชียงบาน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการใช้ยาสมุนไพรและเครื่องสำอางอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล และเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนในการสร้างผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอีกด้วย โดยภายในงานมีการสาธิตการสอนการทำน้ำไพลจากสมุนไพร และ การสอนการทำ Hand Cream จากข้าวไรท์เบอรี่
รศ. ดร.ภก สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “การบริการวิชาการให้กับชุมชนถือเป็นพันธกิจหลักของทางคณะเภสัชศาสตร์ โดยเฉพาะการได้นำบุคลากรที่มีความรู้ด้านยา สมุนไพร และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากทางสาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนที่นี่ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่ผู้คนในชุมชนจะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างมูลค่าให้กับครอบครัวและชุมชน อีกทั้งยังเป็นการรวมกลุ่มในการสร้างผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในชุมชนอีกด้วย”
ดร.ภญ.อดิณัฐ อำนวยพรเลิศ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง อย่างสมเหตุผล กล่าวว่า “นอกจากกิจกรรมในวันนี้ผู้คนในชุมชนจะได้ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างสาเหตุผลแล้ว วันนี้ทางคณะเภสัชศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับ เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ (คภยส.) ยังคอยติดตามในเรื่องการบริการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ด้านการเลิกบุหรี่ของผู้คนในชุมชนที่นี่ ซึ่งปัจจุบันผู้คนในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการลดการสูบบุหรี่ลงถึง 30 คน และเลิกขาดจากการสูบบุหรี่ถึง 12 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ในการพัฒนาและให้ความรู้ในเรื่องของโทษหรือวิธีการแก้ไขปัญหาในการเลิกบุหรี่ของผู้คนในชุมชน และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะทำงานร่วมกับชุมชนพร้อมขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนที่นี่ให้เป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป”
กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ อยู่ภาพใต้โครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อตอบโจทย์การบริการวิชาการให้กับชุมชน และการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย กับชุมชน ดั่งปณิธานของมหาวิทยาลัยพะเยาที่ว่า “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”