8 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด อาคาร 3 ชั้น 2 นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด ประจำปี 2567 สืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทย ให้ทันสมัยดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมด้วยนายนพดล จอมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ แม่บ้านมหาดไทย ภาคีเครือข่าย และผู้ประกอบการ OTOP เข้าร่วมกิจกรรม
นางราณี วงศ์ลุน พัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ทุกจังหวัด จัดการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด ประจำปี 2567 เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ปลุกกระแสเทรนด์ผ้าไทย ให้ทันสมัย พร้อมดึงรายได้เข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทย แต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จัก เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักผ่านการประกวด สุดยอดผ้าจังหวัด ส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยผ่านการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย ผู้ส่งผ้าเข้าประกวด จะต้องเป็น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้าทั่วไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมประกวดผ้า ตั้งแต่วันที่ 5 – 26 เมษายน 2567 โดยมีเงื่อนไขการส่งผ้าเข้าประกวด คือ ต้องเป็นผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือทำจากมือ (กรณีผ้าบาติก พิมพ์ลาย มัดย้อม ผ้าปัก ต้องเป็นผ้าที่ทำจากมือ หรือ Hand made) และควรเป็นสีธรรมชาติ โดยเป็นผืนผ้าที่ทอไว้เดิมแล้วหรือเป็นผ้าที่ทอขึ้นใหม่ก็ได้ เส้นใยที่ใช้ทอ หรือผลิตผ้าในกรณีเป็นประเภทผ้าบาติก มัดย้อม พิมพ์ลาย ต้องเป็นเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยไหมที่เป็นเส้นใยแท้ ต้องไม่ใช้เส้นใยประดิษฐ์ หรือเส้นใยผสม ผ้าที่ส่งเข้าประกวดต้องมีขนาดความกว้าง x ยาว ไม่น้อยกว่า 1 x 4 เมตร (เป็นผ้าลายทั้งผืน หรือเป็นผ้าลายยาว 2 เมตร และผ้าพื้นยาว 2 เมตร ก็ได้) มีผ้าจากอำเภอทั้ง 20 อำเภอ ส่งเข้าประกวดจำนวน 156 ผืน แยกเป็น ผ้าลาย อัตลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด (ลายสาเกต) จำนวน 76 ผืน และผ้าลายอัตลักษณ์ ของอำเภอ จำนวน 80 ผืน
นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การจัดกิจกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัด ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ ถือเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เป็นการประชาสัมพันธ์ผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นที่รู้จัก และยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยผ่านการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้า และช่างทอผ้า มีขวัญและกำลังใจในการสืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป
กิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการผ้าไทย และการคัดเลือกสุดยอดผ้าจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี 2567 และจะได้จัดส่งไฟล์ข้อมูลเรื่องราวผลิตภัณฑ์ (Story) ผ้าที่ชนะการประกวด ให้กรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับทูลเกล้าฯ ถวายฯ ต่อไป
สมนึก บุญศรี รายงาน