ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์วิตกกังวลและร้องเรียนหลังได้รับหนังสือจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวหาว่าไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดิน ทั้งที่ทำการเกษตรมานานกว่า 30 ปี เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้านก่อนออกหนังสือเตือนที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร
8 เมษายน 2568 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก นางกาญจนา จงประเสริฐ อายุ 55 ปี ชาวบ้านแก่งนาขาม หมู่ที่ 5 ต.นาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กรณีได้รับหนังสือเตือนจากสำนักงาน ส.ป.ก. กาฬสินธุ์ ขอเตือนให้ดำเนินการและแจ้งข้อเท็จจริงและแจ้งสิทธิ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า นางกาญจนาไม่ได้ทำประโยชน์ด้วยตนเองในที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540 ข้อที่ 7 โดยอ้างพยานหลักฐานจากข้อมูลผู้ปกครองท้องที่
นางกาญจนา กล่าวว่า รู้สึกมึนงงเป็นอย่างมากเมื่อได้รับหนังสือดังกล่าว เนื่องจากครอบครัวของเธอทำกินในที่ดินแปลงนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นแม่ส่งต่อมาถึงรุ่นลูกเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ไม่เคยทิ้งร้างหรือละเลยการทำประโยชน์แต่อย่างใด
“ดิฉันกังวลมากว่าอาจถูกผู้ไม่หวังดีกลั่นแกล้งและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ ถ้าจะอ้างว่าผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลว่าเราไม่ได้ทำประโยชน์ ก็ควรมีการตรวจสอบในพื้นที่จริงด้วย เนื่องจากการสำรวจจากผู้นำชุมชนอาจไม่ได้ทำอย่างจริงจังและทั่วถึง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายและเป็นภาระกับประชาชนอย่างมาก” นางกาญจนากล่าว
นางกาญจนา กล่าวต่อว่า การออกหนังสือแบบนี้มีขั้นตอนตามกฎหมายและเป็นธรรมกับชาวบ้านหรือไม่ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือข้าราชการใน ส.ป.ก. ใช้อำนาจอย่างรอบคอบหรือไม่ ดิฉันไม่อยากให้โยนภาระการพิสูจน์สิทธิมาตกกับประชาชนตาดำๆ ที่ต้องทำมาหาเช้ากินค่ำอยู่แล้ว
ด้านนายสุขสันต์ จงประเสริฐ อายุ 65 ปี สามีของนางกาญจนา กล่าวว่า การดำเนินการของ ส.ป.ก. ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่รัดกุมในกระบวนการทำงาน ส่งผลให้ประชาชนต้องเดือดร้อนโดยไม่จำเป็น ครอบครัวเราทำกินในที่ดินผืนนี้มาหลายสิบปีแล้ว ไม่เคยทิ้งร้างเลยสักวัน ทุกวันนี้เราปลูกข้าว มันสำปะหลัง และพืชผักสวนครัวหลายชนิด และนอนอยู่เถียงนาทุกวัน แต่กลับถูกกล่าวหาว่าไม่ได้ทำประโยชน์ด้วยตนเอง ซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างยิ่ง
นายสุขสันต์ กล่าวต่อว่า การที่ ส.ป.ก. เชื่อข้อมูลจากบุคคลที่ไม่เคยมาสำรวจพื้นที่จริง หรือไม่เคยสอบถามข้อเท็จจริงจากเจ้าของที่ดินโดยตรง แล้วออกหนังสือเตือนในลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน นอกจากสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านแล้ว ยังทำให้เกิดความหวาดระแวงและความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพของเกษตรกร
นายสุขสันต์ กล่าวอีกว่า หากหน่วยงานรัฐต้องการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ควรมีกระบวนการที่โปร่งใส มีการแจ้งให้เจ้าของที่ดินรับทราบก่อนลงพื้นที่สำรวจ และรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เชื่อข้อมูลจากแหล่งเดียวแล้วดำเนินการที่อาจนำไปสู่การริดรอนสิทธิของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และอาชีพของพวกเราในระยะยาว
ขณะที่นายบุญธรรม สุทธิคุณ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ ส.ป.ก. กาฬสินธุ์ ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า การตรวจสอบตามหนังสือของ ส.ป.ก. กาฬสินธุ์นั้นเป็นขั้นตอนตามแผนงานของสำนักงาน โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ส.ป.ก. ส่วนกลาง สำหรับปี พ.ศ. 2567 เราได้สำรวจการทำประโยชน์ในที่ ส.ป.ก. จาก 2 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และอำเภอสามชัย สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน เราจะแจ้งรายชื่อผู้ถือสิทธิทำประโยชน์ในพื้นที่ปกครองท้องที่นั้นให้กับผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และผู้นำชุมชน เพื่อตรวจสอบการสิทธิการทำประโยชน์ โดยจะส่งให้ตรวจสอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ และจัดประชุมระดับอำเภอเพื่อขอมติการตรวจสอบ
นายบุญธรรม กล่าวต่อว่า สำนักงาน ส.ป.ก. กาฬสินธุ์ ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และหากประชาชนได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวขอให้ดำเนินการติดต่อ สำนักงาน ส.ป.ก. กาฬสินธุ์ ตามวันเวลาราชการ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยพบว่าบรรยากาศที่สำนักงาน ส.ป.ก. กาฬสินธุ์ มีประชาชนที่ได้รับหนังสือเตือนในลักษณะเดียวกันจำนวนมากต่อแถวเป็นคิวยาวเพื่อเข้ารับบริการและชี้แจงข้อเท็จจริง ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว