ทหารไทย ผนึกกำลังร่วมกับ ทหารจากนานาชาติ ร่วมกู้ทุ่นระเบิดที่ฝั่งอยู่ในประเทศไทย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ เผยยังมีพื้นที่อันตราย 19 ตรม.มั่นใจให้หมดภายใน 5 ปี พร้อมกับฝากเตือนประชาชนพบวัตถุต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่
วันนี้ 7 เมษายน 2562 สนามกีฬาเทศบาลตำบลตลาดนิคมปราสาท อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ พลโทสิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วยคณะผู้แทนกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐภาคพื้นแปซิก ผู้แทนองค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ ผู้แทนสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัด “วันรณรงค์การดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดสากล”
เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอันตรายของทุ่นระเบิดในทุกพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากทุ่นระเบิดที่ยังคงมีหลงเหลือและตกค้างอยู่ รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และให้การสนับสนุนการดำเนินการค้นหา เก็บกู้ กวาดล้างและทำลายทุ่นระเบิดให้หมดไป
เพื่อคืนพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป โดยมีนายกฤษฎา แก้วสองเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้การต้อนรับ และมีส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ อ.บ้านกรวด ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นยังมีการแสดงสอดแทรกความรู้ด้านการค้นหาเก็บกู้ทุ่นระเบิด การแสดงนิทรรศการให้ความรู้ทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ การให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิด การให้บริการตัดผม ซ่อมเครื่องยนต์ มอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียน
ด้าน พลโทสิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ฯ เปิดเผยว่า ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ ที่ยังคงมีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 19 ตารางกิโลเมตร พบมากในพื้นที่อำเภอบ้านกรวด และอำเภอละหานทราย ซึ่งเป็นรอยต่อกับประเทศกัมพูชาและเคยมีการสู้รบกันรวมปี พ.ศ. 2518 มีการรุกรานเข้ามายึดครองพื้นที่ฝั่งไทยเป็นสมรภูมิสู้รบกันที่ช่องโอบก ปัญหาที่เก็บกู้ได้ยาก
เนื่องจากว่าทุ่นระเบิดต่างๆถูกฝังตกค้างมานาน 40 ปี
ยิ่งนานวันดินเริ่มทับถม ต้นไม้ รากไม้ก็โตขึ้นปกคลุมทำให้การเก็บกู้ได้ยาก และก็เป็นอันตราย ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติมีความพยายาม มุ่งมั่นที่จะดำเนินการค้นหา เก็บกู้ กวาดล้างและทำลายให้หมดไปภายใน 5 ปี ส่วนประชาชนที่เข้าไปหาของป่าพบทุ่นระเบิด หรือสงสัยว่าจะเป็นทุ่นระเบิด มีข้อปฏิบัติคือ อย่าจับ และให้จดจำว่าอยู่ที่ไหนมีอะไรเป็นที่สังเกตลักษณะเป็นอย่างไร รีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือหน่วยทหารในพื้นที่ เพื่อประสานขอรับการสนับสนุนการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมเพื่อดำเนินการกันพื้นที่ เก็บกู้และตรวจหาทุ่นระเบิดลูกอื่นๆในรัศมีต่อไป
ข่าว-ภาพ วันชัย ผิวอร่าม / วาทิตย์ แสนธุปี ผู้สื่อข่าว จ.บุรีรัมย์