Uncategorized

หม่อมเต่า” มอบนโยบายทูตแรงงาน มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทยในต่างประเทศ

“หม่อมเต่า” มอบนโยบายทูตแรงงาน มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พร้อมติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทยในต่างประเทศ

รมว.แรงงาน มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่อัครราชทูตที่ปรึกษา/กงสุล (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เน้นย้ำ ทูตแรงงานต้องคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วน และติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทย

วันที่ 8 มกราคม 2563 เวลา 13.30 น. หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่อัครราชทูตที่ปรึกษา/กงสุล (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ ห้องมรกต โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพฯ โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า บทบาทและภารกิจของสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ ณ ปัจจุบัน ต้องส่งเสริมแรงงานทักษะฝีมือให้มีโอกาสได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้นและรักษาตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศได้อย่างมีดุลยภาพในแต่ละตำแหน่งงานและสาขาวิชาชีพ

ดังนั้นสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศจึงเป็นจุดประสานงานหลักของกระทรวงแรงงานและเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านสถานการณ์แรงงานในต่างประเทศที่จะใช้ประโยชน์ได้มาก สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามกรอบภารกิจของสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ ขอให้มุ่งเน้นดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่ การคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศให้ได้รับสิทธิประโยชน์ครบถ้วนตามสัญญาจ้างงาน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยในต่างประเทศให้มีความรู้ ทักษะ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สูงขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่แรงงานไทยในต่างประเทศ ป้องกันปัญหายาเสพติด ส่งเสริมการออมให้แก่แรงงาน รักษาและขยายตลาดแรงงานไทย วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการแรงงานไทยจากปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก รวมถึงศึกษา วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานไทย จัดทำข้อมูลด้านแรงงานและเศรษฐกิจ ติดตามสถานการณ์ของแต่ประเทศในเชิงลึก โดยให้ดำเนินงานขับเคลื่อนเชิงรุก ขยายเครือข่ายอาสาสมัครแรงงาน และใช้เทคโนโลยี ปฏิบัติภารกิจร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอย่างบูรณาการการทำงานร่วมกัน

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 กระทรวงแรงงานตั้งเป้าที่จะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 100,000 คน โดยเฉพาะในประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อให้แรงงานมีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ และนำกลับมาพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยม 4 อันดับแรก คือ ไต้หวัน, สาธารณรัฐเกาหลี, ญี่ปุ่น และอิสราเอล เป็นต้น นอกจากนี้ ขอให้ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ให้ทันกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ของการดำเนินการในส่วนของแผนงานโครงการต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะเดียวกันต้องหาแนวทางในการปฏิรูปภายในสำนักงาน ร่วมคิด ร่วมทำ ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมในด้านต่างๆ มาใช้ในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงในการดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศให้มีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป