Reporter&Thai Army

กองทัพภาคที่ 3 แถลงผลการปฏิบัติภารกิจ   โชว์!!  ผลปราบยานรก ค้ามนุษย์ ทรัพยากรป่าไม้ พร้อมเปิดการสื่อสารผ่าน LINE  ให้ญาติทหารใหม่ ทัพสามยุด….ดิจิตอล 4.0

กองทัพภาคที่ 3 แถลงผลการปฏิบัติภารกิจ   โชว์!!  ผลปราบยานรก ค้ามนุษย์ ทรัพยากรป่าไม้ พร้อมเปิดการสื่อสารผ่าน LINE  ให้ญาติทหารใหม่ ทัพสามยุด….ดิจิตอล 4.0

 

 

เมื่อวันที่ 6  พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พันโท ทรงสิทธิ์ รอดสการ ทีมงานโฆษกกองทัพภาคที่ 3 , พันตรี เสรี ทองคู่ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 , และ ร้อยตรี หญิง ช่อเอื้อง สาสังข์ ผู้ช่วยโฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงผลการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 3 พร้อมนำสื่อมวลชนเยี่ยมชนการใช้ชีวิตในรั้วทหารของทหารใหม่ สถานที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามกระบวนการ โอกาสนี้ สื่อมวลขนได้พบปะกับกำลังพลทหารใหม่อีกด้วย

 

ซึ่งการแถลงผลการดำเนินงานในครั้งนี้เป็นผลการปฏิบัติตามนโยบายของกองทัพบก ในด้านมนุษยชนการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤต , การเจรจาขอคืนพื้นที่ป่า ,  การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำและระบบนิเวศหมู่บ้านต้นแบบ , การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ , การจัดชุดดำรงธรรมเคลื่อนที่, การปราบปรามยาเสพติดทั้งในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ และ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการฝึกทหารใหม่ผ่านระบบ Application software  LINE  ณ อาคารศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ในห้วงที่ผ่านมาซึ่งสาระสำคัญดังนี้

 

  1. การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤต

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 เวลา 14.00  นาฬิกา  กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดเฮลิคอปเตอร์ แบบ เบล 212 จำนวน  1  เครื่อง  จากชุดปฏิบัติการบิน กองกำลังนเรศวร  กองทัพบก  ทำการบินเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ 3 เดือน  ที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ มีภาวะหัวใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ  มาจากโรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก  ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยมีคณะแพทย์ พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งรถพยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาล    พุทธชินราชพิษณุโลก มารับไปทำการรักษาต่อไป และในเวลา 15.00 นาฬิกา  กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดเฮลิคอปเตอร์ แบบ เบล 212  เพิ่มเติมอีก จำนวน 1 เครื่อง จากชุดปฏิบัติการบิน หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 กองทัพบก  ทำการบินเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสูงวัย ที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกซ้าย มาจากโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  โดยมีคณะแพทย์พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์  รวมทั้งรถพยาบาลฉุกเฉินมารับไปทำการรักษาต่อไป

การปฏิบัติภารกิจดังกล่าว กองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งการของกองทัพบก/ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ป่วยเจ็บกรณีฉุกเฉิน โดยการร้องขอของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยยึดถือบันทึกความตกลง (MOU) เรื่อง การปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน                  ของกระทรวงกลาโหม ระหว่างกระทรวงกลาโหม, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552  ทั้งนี้จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ทราบเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3         มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหารในการช่วยเหลือยามวิกฤตทุกโอกาส

 

  1. การเจรจาขอคืนพื้นที่ป่า

เมื่อวันที่  30 ตุลาคม 2561  กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำพูน ร่วมกับ หน่วยป้องกัน และพัฒนาป่าไม้ลี้ , ฝ่ายปกครอง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านฯ ได้ดำเนินการเจรจาขอคืนพื้นที่ป่าจากประชาชนที่เข้าไปถือครองที่ดินทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า ซึ่งจากการพูดคุยเจรจาประชาชนทุกคนยินยอมคืนพื้นที่ป่าที่ได้เข้าไปถือครองด้วยความสมัครใจ  จำนวน  10  แปลง  เนื้อที่  87 – 1 – 40 ไร่ ในพื้นที่บ้านแม่ตืน , บ้านแม่เทยสามัคคี , บ้านสว่างวงศ์พัฒนา และบ้านเด่นสวรรค์ ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2561 เป็นต้นมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำพูน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลักษณะเช่นนี้ ในพื้นที่ ต.ป่าไผ่, ต.ดงดำ และ ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน สามารถขอคืนพื้นที่ป่าได้จำนวน  3,929  ไร่ เพื่อนำกลับมาฟื้นฟูให้เป็นป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ร่วมกับประชาชนและ  ทุกภาคส่วนต่อไป

  1. การฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำและระบบนิเวศหมู่บ้านต้นแบบ

 

พื้นที่ป่าต้นน้ำ แม่น้ำน่านที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งระหว่างปี   พ.ศ. 2551 – 2557 พบว่ามีการบุกรุกที่ดิน ทำให้มีพื้นที่ป่าลดลง 125,233.57 ไร่ แต่หลังปี พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน   มีสภาพป่าฟื้นตัวถึง 13,127.14 ไร่ โดยการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน  เน้นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารเป็นหลัก โดยเฉพาะการดำเนินงานของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดําริ ได้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหา  ในพื้นที่ได้ดำเนินการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน  ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่บ้านห้วยลอย   ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ได้แจ้งความประสงค์จะไม่เข้าไปถือครองและทำประโยชน์ในพื้นที่ป่า โดยยอมคืนที่ทำกินให้ฟื้นคืนเป็นป่า จำนวน 1,721 ไร่ กองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่  38  จึงได้ร่วมดำเนินการฟื้นฟูป่าตามโครงการกองทัพบกอาสาปลูกป่าสร้างฝายสืบสานพระราชปณิธาน

เป้าหมายโครงการ

– ในพื้นที่ดำเนินงาน บ้านห้วยลอย 1,721 ไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี  ตั้งแต่  พ.ศ. 2560 – 2563            โดยแบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ

1) พื้นที่ป่าทำกินเดิมลักษณะเป็นป่าเสื่อมโทรม จำนวน 1,000 ไร่  ซึ่งประชาชนความต้องการคืนพื้นที่

เพื่อปลูกป่าให้เป็นป่าชุมชน

2) พื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว จึงเป็นพื้นที่ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก  จำนวน 721 ไร่

กิจกรรมในการดำเนินงานตามโครงการมีดังนี้

  1. การปลูกป่าตามพระราชดำริ

– ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป้าหมายเนื้อที่ 600 ไร่ ดำเนินการปลูกในปี 2560     ถึงปัจจุบันปลูกต้นไม้ไปแล้ว 310 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 51.67 ( 31,394 ต้น )

– การปลูกป่าเปียก เป้าหมายเนื้อที่ 400 ไร่ ดำเนินการปลูก ในปี 2560  ถึงปัจจุบัน         ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 202 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 50.50 ( 20,200 ต้น )

– การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เนื้อที่ประมาณ 721 ไร่ ได้ทำการลาดตระเวนและตรวจสอบพื้นที่ ในปี 2561 ไม่พบการบุกรุก/ประชาชนยินดีให้พื้นที่แห่งนี้เป็นป่าตามธรรมชาติ ถือว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชน ร้อยละ 100

  1. การสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริ

– เป้าหมาย จำนวน 280 ฝาย สร้างในปี 2560 จึงถึงปัจจุบัน รวม 150 ฝาย คิดเป็นร้อยละ 53.57  จากการประเมินฝายที่สร้างไว้  พบดินมีความชุ่มชื้น มีผักกูด บอน เห็ดป่า เกิดขึ้นตามแนวลำห้วย นอกจากนี้แล้วตามต้นไม้ใหญ่มีมดแดงมาทำรังเพิ่มขึ้น ประชาชนสามารถนำมาเป็นอาหารรับประทานได้

  1. การส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าโดยชุมชนมีส่วนร่วม และการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าของชุมชน

– ดำเนินการในรูปแบบจิตอาสาที่แสดงความจำนง ที่จะปกป้องผืนป่าในพื้นที่  โดยมี      นาย ผจญ บุญอิน และ เด็กชาย ธนธรณ์ น่านโพธิ์ศรี ผู้ประสานงานเครือข่าย

  1. การส่งเสริมรายได้และการพัฒนา จากการที่ชุมชนและป่าอยู่ร่วมกัน ดังนี้

– ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป เช่น พืชผักสวนครัว ใยบวบใช้สำหรับขัดตัว จัดจำหน่ายในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภูฟ้า

– มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ดำเนินการจัดทำระบบน้ำอุปโภคบริโภค ให้กับประชาชน และโรงเรียน ท่านผู้หญิงสง่า อิงคุลานนท์ ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

– มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่งเสริมการปลูกขมิ้น และไพล เพื่อทำเป็นยาหม่อง โดยใช้ชื่อว่า ยาหม่องไพลท่านผู้หญิงสง่า ฯ  ซึ่งมีจำหน่ายในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน

 

  1. การจับกุมยาเสพติด

ตามที่ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 ได้มีนโยบายให้มีการบูรณาการงานด้านการข่าวเพื่อความมั่นคงของพลเรือน ตำรวจ ทหาร และทุกภาคส่วน     ในการดำเนินการ สกัดกั้น ปราบปราม และจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดอย่างจริงจัง ตั้งแต่พื้นที่แนวชายแดน จนถึงพื้นที่ตอนในของประเทศ นั้น มีรายละเอียดการจับกุมยาเสพติดที่สำคัญ ดังนี้

เหตุการณ์ที่ 1 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 เวลา 19.30 นาฬิกา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่, มณฑลทหารบกที่ 33 และตำรวจภูธรภาค 5  โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559  เข้าทำการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย  ผลการปฏิบัติงานสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 1 คน บริเวณตลาดรวมโชค ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่  พร้อมของกลางเป็นเฮโรอีนชนิดอัดแท่ง    ขนาด 350 กรัม จำนวน 200 แท่ง  รวม 70 กิโลกรัม  จึงได้สอบถามเพื่อขยายผลการจับกุมเพิ่มเติมที่ กองบังคับการ สืบสวนตำรวจภูธรภาค 5 จ.เชียงใหม่  แล้วนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี         ตามกฎหมายต่อไป

เหตุการณ์ที่ 2 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 เวลา 06.00 นาฬิกา กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดลำปาง, มณฑลทหารบกที่ 32, ตำรวจภูธรแม่ทะ และฝ่ายปกครองอำเภอแม่ทะ ร่วมกันขยายผลการจับกุมโดยเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายบริเวณ บ.แม่ปุง ม.7 ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ผลการปฏิบัติงานสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 2 คน พร้อมของกลางเป็นยาบ้า 210,000 เม็ด และ ไอซ์ 941.12 กรัม ได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ทะ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เหตุการณ์ที่ 3   เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 เวลา 04.50 นาฬิกา ขณะที่ กำลังพล 1 ชุดปฏิบัติการจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 31  กำลังตั้ง จุดตรวจ/จุดสกัด ป้องกันการลักลอบขนย้ายยาเสพติด     อยู่ที่บริเวณ บ.สามสูง ม.11 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย  ได้พบว่ามีจักรยานยนต์ จำนวน 3 คัน ขับขี่มาตามถนนอย่างมีพิรุธ โดยรถคันแรกเว้นระยะจากคันอื่น มีลักษณะเป็นรถตรวจดูการปฏิบัติงาน       ของเจ้าหน้าที่ตามเส้นทางผ่าน ซึ่งเจ้าหน้าที่มิได้เรียกตรวจค้น  หลังจากรถคันแรกผ่านจุดตรวจฯ ไปประมาณ 10 นาที รถจักรยานยนต์อีก 2 คัน ได้ขับขี่ตามกันมา  ชุดปฏิบัติการฯ จึงส่งสัญญานให้หยุดรถเพื่อทำการตรวจค้น  แต่ปรากฏว่า ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ทั้ง 2 คัน ได้เลี้ยวกลับรถทันทีพร้อมกับทิ้งสิ่งของบางอย่างลักษณะเหมือนกระสอบ แล้วขี่รถหลบหนีไปอย่างรวดเร็วในความมืด  ชุดปฏิบัติการฯ ได้เข้าทำการตรวจสอบบริเวณเกิดเหตุพบกระสอบ 3 ใบ ภายในบรรจุยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) จำนวน 500,000 เม็ด               ชุดปฏิบัติการฯ จึงได้นำยาบ้าดังกล่าวนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ฟ้าหลวง เพื่อดำเนินคดี  กับผู้กระทำผิดกฎหมาย และได้ทำการสืบสวนเพื่อขยายผลการจับกุมต่อไป

  1. การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์

 

ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้มอบนโยบาย “การป้องกันปราบปราม      การค้ามนุษย์”  ให้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558  เป็นต้นมานั้น  ทุกกระทรวง ทบวง กรม มีการทำงานอย่างมีบูรณาการเดินหน้าขจัดปัญหาและอุปสรรคทั้งด้านกฎหมาย ระเบียบ และข้อปฏิบัติต่างๆ               เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด นั้น

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561  ได้มีการแถลงข่าว สรุปผล การทลายขบวนการค้ามนุษย์ที่มีลักษณะของการบังคับ หลอกลวง หรือแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็ก ผลการจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการบูรณาการด้านการข่าวและการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร (ฝ่ายปกครองจังหวัดนครสวรรค์ , ตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ และกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดนครสวรรค์) โดยจากการสืบทราบมาว่า  นักเรียนบางคนระดับมัธยมต้นในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีพฤติกรรมไม่ปกติ       ขาดเรียนบ่อยครั้งแต่มีการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย จึงได้ติดตามพฤติกรรรมซึ่งพบว่า มีการติดต่อเพื่อซื้อขายบริการทางเพศ โดยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก) หลอกลวงชักชวนเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิง มาขายบริการทางเพศ  จึงดำเนินการจับกุมขบวนการดังกล่าวได้ผู้ต้องหา จำนวน 42 ราย (แยกเป็นเอเย่นต์    8 ราย และผู้ซื้อบริการเด็ก 34 ราย) รวมพบการกระทำผิดจำนวน 115  ครั้ง ถือว่าเป็นการทลายเครือข่ายค้าบริการทางเพศเด็กที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมาในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

 

  1. การจัดชุดดำรงธรรมเคลื่อนที่

 

ผู้บัญชาการทหารบก/เลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มอบนโยบายให้ ผู้บังคับหน่วย   กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ได้จัดชุดดำรงธรรมเคลื่อนที่  ประกอบด้วย  ทหาร, ตำรวจ, ฝ่ายปกครอง,            ส่วนราชการอื่น ๆ ในพื้นที่ รวมทั้งจิตอาสา ประมาณ 8 – 10 นาย ลงพื้นที่ระดับตำบล และหมู่บ้าน

ทั้งนี้ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 3 ได้สั่งการให้มีการจัดชุดดำรงธรรมเคลื่อนที่ ในทุกอำเภอ รวม 196 อำเภอ (17 จังหวัดภาคเหนือ) เพื่อรับเรื่องราว     ร้องทุกข์/รับทราบปัญหาของประชาชน ให้บริการขั้นพื้นฐานตามขีดความสามารถของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งให้คำแนะนำในด้านต่าง ๆ เช่น การประกอบอาชีพ และการสร้างรายได้เสริม เป็นต้น ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียน      ที่สามารถแก้ไขหรือคลี่คลายได้ ให้ชุดดำรงธรรมเคลื่อนที่ดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันปฏิบัติงาน หรือเรื่องร้องเรียนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ส่งเรื่องไปยังศูนย์ดำรงธรรมในแต่ละอำเภอ เพื่อดำเนินการต่อไป

  1. การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการฝึกทหารใหม่ผ่านระบบ Application software LINE

 

เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวการฝึกทหารใหม่ของกองทัพบก ให้ครอบครัวทหารใหม่รับทราบ     หน่วยฝึกทหารใหม่ทุกหน่วยจะได้ใช้การสื่อสารผ่านระบบฯ LINE  กับครอบครัวทหารใหม่ ดังนี้

– จัดตั้งกลุ่มไลน์หน่วยฝึกทหารใหม่ ตั้งแต่เริ่มมีการรับทหารใหม่

– จัดทำ QR Code เชิญผู้ปกครองทหารใหม่เข้ากลุ่มไลน์ เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มไลน์ของหน่วยฝึกทหารใหม่กับครอบครัวทหารใหม่ มีดังนี้

– หน่วยฝึกทหารใหม่แจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้ครอบครัวทหารใหม่ทราบ

– แจ้งการพัฒนาการทางร่างกาย และการพัฒนาการฝึกของทหารใหม่ ให้ทราบเป็นรายสัปดาห์       เพื่อลดความกังวลแก่ครอบครัวทหารใหม่

– แจ้งการดูแลความเป็นอยู่ทั่วไปและการดูแลสุขภาพของทหารใหม่ให้ครอบครัวทหารใหม่ทราบ

– แจ้งผู้ปกครองทหารใหม่ ในกรณีมีเรื่องติดต่อเร่งด่วน

– แจ้งกำหนดการและขั้นตอนการเยี่ยมญาติให้ครอบครัวทหารใหม่ทราบ

– แจ้งสภาพขวัญและกำลังใจของทหารใหม่ เพื่อความสบายใจและลดความกังวลของครอบครัวทหารใหม่

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อสภาพความเป็นอยู่ และระบบการฝึกทหารใหม่ของกองทัพบกในปัจจุบัน