ข่าวประชาสัมพันธ์

ตัวแทนแหล่งน้ำ 4 จังหวัด ร่วมประเมินผล พัฒนาศักยภาพการเก็บกักและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รับมือน้ำแล้ง-น้ำหลาก

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุมโรงแรมจันทรา ถนนสุวรรณศร อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ดร.สุประภาพ พัฒน์สิงหเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์เมขลา กองวิเคราะห์และประเมิน สถานการณ์น้ำ (กรมทรัพยากรน้ำ) เป็นประธานการประชุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 โครงการค่าใช้จ่าย ในการพัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็ก พื้นที่ “ภาคกลาง และภาคตะวันออก” เพื่อการพัฒนาศักยภาพการเก็บกักและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี ดร.กฤษณัส สุรกิตย์ ทีมวิศวกรโครงการ (ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำ) คณะวิทยากร นำเสนอบทสรุปของผลการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนอบรมการใช้งานโปรแกรมการรายงานข้อมูลระดับน้ำ โดย ผู้เข้าร่วมประชุม เป็นตัวแทนแหล่งน้ำจากทั้ง 4 จังหวัด ประกอบด้วยผู้แทนจาก จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด และจันทบุรี รวม 17 แหล่งน้ำ

ดร.กฤษณัส สุรกิตย์ ทีมวิศวกรโครงการ (ผู้เชี่ยวชาญด้านแหล่งน้ำ) กล่าวว่า จากปัญหาภัยแล้ง และภัยจากน้ำหลาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะต้องวิเคราะห์และทราบถึง สาเหตุที่มาของปัญหา เพื่อจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน พบว่า หน่วยงานของรัฐยังขาดข้อมูลที่สำคัญ โดยเฉพาะข้อมูล “บัญชีแหล่งน้ำระดับตำบล หรือ ระดับหมู่บ้าน” จึงทำให้ไม่ทราบปริมาณน้ำที่แท้จริงในแหล่งน้ำนั้นๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้ สำหรับเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ส่งผลให้เมื่อถึงฤดูแล้ง และฤดูน้ำหลาก ปัญหาดังกล่าวจึงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำเก็บกักในแหล่งน้ำขนาดเล็กพื้นที่ “ภาคกลาง และภาคตะวันออก”

โดยผลลัพธ์ของโครงการจะทำให้ทราบถึงศักยภาพในการเก็บกักและปริมาณน้ำที่มีในปัจจุบัน ตลอดจนปริมาณน้ำที่คาดว่าจะขาดแคลนในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ หน่วยงานภาครัฐสามารถวางแผนการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านน้ำได้ดียิ่งขึ้น

ในการนี้กรมทรัพยากรน้ำ จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ดำเนินโครงการฯ นี้ขึ้น เพื่อศึกษาและสำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ระดับแหล่งน้ำ เพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ รวมรวบข้อมูลกิจกรรมการใช้น้ำของประชาชน ในแหล่งน้ำต่างๆ และรับฟังข้อเสนอแนะ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาจากประชาชน โดยนำร่อง ดำเนินการในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 52 แหล่งน้ำ คลอบคลุมพื้นที่ 7 ลุ่มน้ำ ในพื้นที่การปกครอง 20 จังหวัด โดยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานทรัพยากรน้ำทั้ง 2 สำนักงาน คือ (สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 และสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6)

สำหรับในวันนี้ เป็นการประชุมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนระดับสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 เพื่อนำเสนอบทสรุป ของผลการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนอบรมการใช้งานโปรแกรมการรายงานข้อมูลระดับน้ำ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นตัวแทนแหล่งน้ำจากทั้ง 4 จังหวัด ประกอบด้วยผู้แทนจาก จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ตราด และจันทบุรีรวม 17 แหล่งน้ำ