“พ.ต.อ.ทวี” ยันพื้นที่ชายแดนใต้ไม่จำเป็นต้องประกาศ “พื้นที่คุมเข้มพิเศษปราบยาเสพติด” เหมือนภาคเหนือ 11 อำเภอ “เชียงใหม่-เชียงราย” ที่เพิ่งประกาศดีเดย์ 1 ธ.ค. แจงภาคกลาง-ภาคใต้ คือพื้นที่แพร่ระบาดและทางผ่าน หากไม่มีเจ้าหน้าที่กับผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง ยาเสพติดย่อมไปไม่ถึง มั่นใจกลไกที่มี “เอาอยู่”
วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.66 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการใช้มาตรการพิเศษในการสกัดกั้นยาเสพติดลำเลียงเข้าพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ จะมีการนำมาใช้กับชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ถึงขนาดต้องประกาศมาตรการพิเศษตามมาตรา 5 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด เพราะมีกฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) และกฎหมายพิเศษอื่นๆ ประกาศใช้อยู่แล้ว
อนี่ง เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พ.ย.66 พ.ต.อ.ทวี เดินทางไปที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ประชุมร่วมกับแม่ทัพน้อยที่ 3 และสำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 5 พร้อมประกาศว่า รัฐบาลเตรียมใช้นโยบายสำคัญ คือ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 5 (10) ในการกำหนดพื้นที่พิเศษ และโครงสร้างเฉพาะเพื่อดำเนินการในพื้นที่ที่มีปัญหาการนำเข้ายาเสพติดรุนแรง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ใน 11 อำเภอ โดยจะมีการจัดตั้ง “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์” เป็นหน่วยที่มีเอกภาพในการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดเข้าสู่เขตภาคเหนือ ในระยะ 1 ปี โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 1 ธ.ค.2566 จนถึงสิ้นปี 2567 ให้ทางกองทัพภาคที่ 3 และ ป.ป.ส. เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนภารกิจ ควบคู่ไปกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวชายแดน
“การแก้ปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เป็นปัญหาเร่งด่วน เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องการแก้ไขให้เห็นผลภายใน 1 ปี ทว่าแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกัน คือยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้า จากการตรวจพิสูจน์ ไม่มีโรงงานผลิต ในประเทศไทย ทั้งหมดเป็นยาเสพติดที่ถูกลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน การประกาศนโยบายแต่ละพื้นที่จึงมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ทีมีการลักลอบนำเข้ายาเสพติด คือภาคเหนือกับภาคอีสานของประเทศไทย โดยเฉลี่ยภาคเหนือประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ภาคอีสานประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้มาตรการพิเศษในการสกัดกั้น”
“แต่พื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด พื้นที่ที่เป็นทางผ่าน คือพื้นที่ทางภาคกลางและภาคใต้ การแก้ปัญหาเรื่องผู้เสพยาเสพติด ผู้ค้ารายย่อย ผู้มาเกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้นั้น อาจจะไม่ถึงขนาดต้องประกาศตามมาตรา 5 เรามีกฎหมาย ศอ.บต. และกฎหมายเกี่ยวข้องใช้ในพื้นที่อยู่แล้ว” พ.ต.อ.ทวี อธิบาย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าอวีกว่า มาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการทั่วประเทศ คือต้องทำให้ประชาชนที่ติดยาเสพยาได้รับการแก้ไข สิ่งหนึ่งคือต้องบำบัดฟื้นฟู ไม่ว่าเม็ดเดียวหรือหลายเม็ด ถือเป็นรายย่อย
“เรื่องยาเสพติด ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่มีอิทธิพลเข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าไปอยู่เบื้องหลังแล้ว ยาเสพติดจะไปไม่ถึงภาคใต้ และเราควรจับมือกับมาเลเซียเพื่อร่วมกันทำงาน ต่อไปนี้อยากเห็นชุมชน สถาบันการศึกษา ร่วมกันบำบัดฟื้นฟู เอาเยาวชนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่ครอบครัว กลับคืนสู่โรงเรียนและสังคมให้ได้ นี่เป็นวาระที่เราจะทำภายใน 1 ปี”
@@ ยาบ้าเกิน 5 เม็ดถือเป็นผู้ค้า ส่อทำนักโทษพุ่ง 1 หมื่นคน
ต่อข้อถามถึงจำนวนยาเสพติดที่เคยเสนอว่าหากครอบครองเกิน 10 เม็ดจะถือเป็นผู้ค้า ถ้าต่ำกว่า 10 เม็ดเป็นผู้เสพ ต้องเข้ารับการบำบัด ทว่าสุดท้ายหน่วยงานอื่น รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขสรุปตัวเลขที่ 5 เม็ด หากครอบครองเกิน 5 เม็ดจะเป็นผู้ค้า จะทำให้มีปัญหาตามมาหรือไม่
ประเด็นนี้ พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า “จะ 5 เม็ดหรือ 10 เม็ดอยู่ที่เป้าหมาย ถ้าเป็นผู้เสพต้องดูข้อมูลความรุนแรงทางการแพทย์ เทียบกับปริมาณการใช้ แต่ถ้าเป็นผู้ค้า ถ้ากำหนด 10 เม็ด เขาก็พกพา 9 เม็ด ถ้ากฎหมายกำหนด 5 เม็ด เขาก็จะพกพา 4 เม็ด คาดการณ์ว่าหลักเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้มีนักโทษเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 คน”