พะเยา ประเพณี แห่ช้างเผือก ขอน้ำฝน ให้ตกต้องตามฤดูกาล ตามความเชื่อของชาวล้านนา
วันที่ 6 มิ.ย 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านพร้อมด้วยผู้นำชุมชน ในพื้นที่ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา จัดประเพณีแห่ช้างเผือก ขอน้ำฟ้า สายฝน หลังฝนยังไม่ตกอย่างเต็มที่ ทั้งที่เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยชาวบ้านเชื่อว่า การจัดประเพณีแห่ช้างเผือกดังกล่าว จะเป็นหนทางช่วยในการให้ฝนตกลงมาในพื้นที่ ตามความเชื่อประเพณีโบราณของชาวล้านนา
ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1-9 ใน ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ต่างร่วมกัน แห่ช้างเผือก (ช้างปัจจัยนาค) เพื่อเป็นการฟื้นฟูประเพณีสำคัญของหมู่บ้านที่หายไปกว่า50ปี โดยมีการจำลองช้างปัจจัยนาคซึ่งเชื่อว่าเป็นช้างทรงของพระพุทธเจ้า โดยเชื่อว่าเมื่อช้างปัจจัยนาคไปที่ไหน ที่นั่นก็จะมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พร้อมตีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ไปตามถนนในหมู่บ้าน จำนวนทั้ง 9หมู่บ้านของศรัทธาวัดแม่นาเรือ เพื่อขอน้ำฟ้า สายฝน หลังในพื้นที่ ฝนยังไม่ตกอย่างเต็มที่ ทั้งที่เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และไม่มีฝนตกลงมาในพื้นที่เลย ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จนร่วมมือกันทำพิธีแห่ช้างเผือกไปตามถนนรอบๆหมู่บ้าน และก็จะมีชาวบ้านต่างนำปัจจัยออกมาทำบุญเพื่อใช้ในพิธีขอฝนด้วย
พระครูปัญญารัตนพิลาส (ท่านพระครูหลี) เจ้าอาวาสวัดแม่นาเรือ กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่บ้านแม่นาเรือ จำนวน 9 หมู่บ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุ จะร่วมกันประดิษฐ์ช้างเผือกที่ทำสมมุติขึ้นมา และจะทำการขับรถแห่ไปตามถนนรอบๆในหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน และในวันถัดไปก็จะทำพิธีสวดขอฝนกับเจ้าพ่อขุนน้ำ ที่ต้นน้ำห้วยน้ำแฮง หลังอ่างเก็บน้ำสันป่าสัก ตำบลแม่นาเรือ ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่เคยทำกันมาตั้งแต่โบราณ คือ การแห่ช้างเผือก เพื่อขอน้ำฟ้า และสายฝน เพื่อให้ฝนตกลงมา รวมทั้งเพื่อให้เทวดาได้ดลบันดาล ให้ปล่อยน้ำฟ้าน้ำฝนลงมาให้กับเกษตรกร ซึ่งชาวบ้านจะกระทำกันในทุกๆปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีโบราณ ที่ทำมาหลายชั่วอายุคน ที่ยังคงสืบทอดกันมาถึงปัจจุบันนี้ เช่นเดียวกับคุณปู่เมือง อุปปิง วัย 91 ปี ที่บอกว่าตนเองและชาวบ้านได้ทำประเพณีแห่ช้างเผือกนี้มาทุกปี ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และพอกระทำแล้วเสร็จฝนก็จะตกจริงตามความเชื่อของชาวบ้าน
https://youtu.be/9WRHugtxpA8