5 เมษายน 2567 นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 เป็นประธานการแถลงข่าว การสวนหัวใจเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนแห่งแรกในภาคอีสาน ณ ห้องประชุมธารน้ำใจ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 3 โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยมี นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผศ.นพ.วรกานต์ พรหมพันธุ์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี นายแพทย์พินิจ แก้วสุวรรณะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์คนที่ 1 และ นายแพทย์ประภัสร์ อัศยเผ่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศ (ด้านโรคหัวใจและทารกแรกเกิด) โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าว
นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร กล่าวว่า โรคหัวใจแต่กำเนิดเป็นโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ผู้ป่วยกว่าครึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจเพื่อแก้ไขความผิดปกติ และมีโอกาสต้องผ่าตัดซ้ำเพราะความซับซ้อนของโรค ซึ่งการผ่าตัดในแต่ละครั้งจะเพิ่มความเสี่ยง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจและระบบอื่นๆได้ แต่การเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน (percutaneous pulmonary valve implantation, PPVI) เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดซ้ำได้ และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพียง 1 ถึง 2 วันหลังสวนหัวใจ ดังนั้น การสวนหัวใจเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน จึงเป็นการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ทดแทนการผ่าตัด และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก
นายแพทย์ประวีณ ตัณฑประภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้พัฒนาศักยภาพด้านการรักษามาโดยตลอด และได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวน เมื่อปี 2566 และการสวนหัวใจในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทย์และพยาบาลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี เข้าร่วมทำหัตถการให้แก่ผู้ป่วยหญิงอายุ 22 ปี ป่วยด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เคยได้รับการผ่าตัดเมื่ออายุ 5 ปี ปัจจุบันมีปัญหาลิ้นหัวใจพัลโมนารี่รั่วอย่างรุนแรง จึงต้องได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารี่
การสวนหัวใจเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีผ่านทางสายสวนให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจครั้งนี้ นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในภาคอีสาน เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยหัวใจ ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างสะดวก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดต่อไป
อภิรักษ์ ศรีอัศวิน รายงาน