กาฬสินธุ์พลิกผืนดินแล้งเป็นแปลงปลูกกะหล่ำปลีรสหวานฉ่ำสร้างรายได้ตีตลาด
ชาวบ้านในอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่นอกเขตชลประทาน พลิกผืนดินที่แห้งแล้ง เป็นแปลงปลูกกะหล่ำปลี ใช้น้ำจากบ่อพักที่กักเก็บจากน้ำฝนหล่อเลี้ยง งดใช้สารเคมี อายุเพียง 60 วัน ตัดจำหน่ายได้ ให้รสชาติหวานฉ่ำ กรอบ อร่อยส่งขายโรงพยาบาลและตลาดชุมชน คาดมีรายได้ฤดูแล้งนี้ 50,000-60,000 บาท ในอนาคตอยากขยายพื้นที่เป็นพืชทางเลือกใหม่ เพื่อเป็นอาชีพหลักโกยเงินในฤดูแล้ง
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน พบว่าที่ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ได้มีเกษตรบางรายพลิกวิกฤติแล้ง และดินเสื่อมคุณภาพ เป็นแปลงปลูกกะหล่ำปลี ประสบผลสำเร็จหัวใหญ่ ปลอดภัย ไร้สารพิษตกค้าง เก็บไว้รับประทานนานวันโดยไม่เน่าเสีย ที่สำคัญได้รสชาติแปลกใหม่ ทั้งหวานฉ่ำ กรอบ อร่อย
นางสาคร วิทยาเวทย์ เกษตรกรบ้านป่าหวาย ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ไม่มีระบบน้ำชลประทาน น้ำที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค ได้จากบ่อดินที่กักเก็บจากน้ำฝนและน้ำประปา ซึ่งบางปีขาดแคลน ไม่พอใช้ ในขณะที่ฤดูแล้งปีนี้ น้ำที่กักเก็บไว้เหลือไม่มากนัก ประกอบกับสภาพหน้าดินที่แห้งแล้ง เสื่อมคุณภาพ หากจะปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ผักสวนครัว แตง หรือข้าวโพด จะต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงมาก และสิ้นเปลืองปุ๋ยบำรุง จึงหันมาปลูกกะหล่ำปลี ซึ่งเป็นพืชทางเลือกใหม่ ปลูกง่าย ประหยัดน้ำ ทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนแล้งได้ดี ใช้ต้นทุนต่ำ ซื้อเพียงเมล็ดพันธุ์ และรวมค่าไฟที่ใช้สูบน้ำมารดแปลงกะหล่ำปลีเพียง 500 บาท
นางสาคร กล่าวอีกว่า ตนใช้พื้นที่ 2 งาน ปลูกกะหล่ำปลี 3,000 ต้น โดยบำรุงด้วยปุ๋ยคอกและสารชีวภาพกำจัดเพลี้ยและหนอน ทั้งนี้ เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก อายุ 30-40 วันเริ่มห่อ และอายุ 50-60 วัน สามารถตัดจำหน่ายได้ ซึ่งมีลูกค้ามารับซื้อถึงที่ นอกจากนี้ยังตัดส่งตลาดนัดสีเขียวโรงพยาบาลห้วยเม็ก และตลาดนัดชุมชน โดยจะขายเป็นห่อ ห่อเล็กขาย 10 บาท ห่อใหญ่ขาย 20 บาท ซึ่งได้ราคาดีกว่าส่งตลาดสด เพราะจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา โดยตลาดสดรับซื้อเพียง กก.ละ 3 บาทเท่านั้นเอง กะหล่ำปลีบ้านป่าหวายของตน จึงติดตลาด มีลูกค้าทยอยมาซื้อถึงแปลงตลอดวัน คาดมีรายได้จากการขายกะหล่ำปลีในฤดูแล้งนี้ประมาณ 50,000-60,000 บาท
นางสาคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือเป็นความโชคดีของตน ในช่วงที่กะหล่ำปลีเริ่มห่อ สภาพอากาศหนาวพอเหมาะ ซึ่งหากอากาศร้อนจะส่งผลกระทบ ทำให้กะหล่ำปลีห่อไม่ดี และทำให้เสียรสชาติ อย่างไรก็ตามจากการปลูกกะหล่ำปลี ในพื้นที่แห้งแล้ง สารอาหารในดินต่ำ โดยใช้เพียงปุ๋ยคอกบำรุงและกำจัดศัตรูรบกวนด้วยสารชีวภาพ และการให้น้ำที่พอเหมาะ กลับส่งผลดีให้กะหล่ำปลีของตน มีรสชาติที่หวานฉ่ำ กรอบ อร่อย รักษาสภาพความสดชื่นได้นานโดยไม่เน่าเสีย ในอนาคตหากอากาศไม่ร้อน จะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นพืชทางเลือกใหม่ที่จะปลูกเป็นอาชีพหลักและมีรายได้จากการปลูกกะหล่ำปลีในฤดูแล้ง เพราะค้นพบแล้วว่าต้นทุนต่ำ ได้ผลผลิตดีและมีรายได้ดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่น
คณัสนันท์ ภูจารึก จ.กาฬสินธุ์