ศึกมรดกพันล้านปางช้างแม่สาที่มีชีวิตช้าง 68 เชือกเป็นเดิมพันยืดเยื้อมาร่วม 5 ปี เริ่มมีทางออกที่ยอมกันได้
ศึกมรดกพันล้านของพ่อเลี้ยงชูชาติ กัลมาพิจิตร เจ้าของปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ล่วงลับไปนานร่วม 5 ปีเต็ม แต่การแบ่งสรรมรดกในหมู่เครือญาติไม่สามารถตกลงกันได้มีคดีฟ้องร้องกันทั้งทางแพ่งและอาญากว่า 30 คดี ยืดเยื้อมานานร่วม 5 ปี สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับทั้งคนและช้างที่ต้องผ่านทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และภัยธรรมชาติจนต้องปิดปางช้างร่วม 2 ปี ไร้เงินบริหารปางช้างและต้องแบกรับหนี้สินอย่างหนักตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.นี้ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ความเป็นอยู่ของช้างที่อยู่ในปางช้าง 68 เชือก พบว่ายังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมและร่วมกิจกรรมอาบน้ำให้ช้างและป้อนอาหารช้าง ถือว่าเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่พยุงปางช้างทั้งคนและช้าง ให้อยู่รอดแต่ก็ไม่เพียงพอเพราะต้องใช้เงินเดือนหนึ่งประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้
ผู้สื่อข่าวได้พบกับนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ลูกสาวคนโตของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้ล่วงลับและเป็นผู้บริหารปางช้างแม่สา และยังเป็นผู้จัดการมรดกร่วม โดยผู้สื่อข่าวได้ถามถึงสถานการณ์ปางช้างแม่สา และเรื่องการจัดการทรัพย์มรดก มีความคืบหน้าอย่างไร นางอัญชลีได้เผยว่า ในเรื่องการจัดการทรัพย์สินของบิดาที่ยืดเยื้อมายาวนานร่วม 5 ปี ก็มีแนวโน้มจะหาข้อยุติลงได้เพราะมีการเจรจาพูดคุยกันและมีการประเมินทรัพย์สินกันชัดเจนแล้วก็มีช่องทางที่จะตกลงกันได้ แต่ก็ต้องรอฟังผลการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทปางช้างแม่สาก่อน เมื่อสามารถพูดคุยกันทั้งในหมู่เครือญาติปฎิบัติตามพินัยกรรมของนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ก็คงจะหาข้อยุติกันได้ในหลายๆเรื่อง รวมทั้งคดีความต่างๆ ก็คงจะเจรจาไกล่เกลี่ยกันในโอกาสต่อไป
ซึ่งตนยังพูดอะไรมากไม่ได้ ต้องรอผลการประชุมผู้ถือหุ้นและคดีที่จะมีการพูดคุยเจรจากันในกระบวนการยุติธรรม แต่ตนก็หวังไว้ว่าทุกเรื่องก็คงจะหาข้อยุติได้
ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงเรื่องการดูแลช้างทั้ง 68 เชือก ของปางช้างแม่สา ซึ่งทางนางอัญชลี ก็เผยว่าการเลี้ยงช้างของปางช้างแม่สา เรายังคงงดการแสดงช้างและการนั่งหลังช้าง แต่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาใกล้ชิดกับช้างไม่ว่าจะเป็นการป้อนอาหารช้างและกิจกรรมอาบน้ำให้ช้างและอาจจะมีการพัฒนาการเลี้ยงดูแลช้างเป็นโซนๆเพราะเรามีทั้งช้างที่แก่ชราจำนวนมากและเราเปลี่ยนเป็นการเลี้ยงแบบอนุรักษ์ไร้โซ่ไร้ตะขอ และไม่มีการนั่งหลังช้างเด็ดขาดเพื่อบั้นปลายชีวิตช้างที่อยู่คู่ปางช้างมากว่า 45 ปี จะได้อยู่อย่างมีความสุขเสียที