Uncategorized

กรณีฝูงสุนัขจรจัดรุมขย้ำเด็กหญิงวัยหนึ่งขวบ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ได้มีความห่วงใยกับกรณีที่เกิดขึ้น

วันที่ 5 พ.ย.2561 กรณีฝูงสุนัขจรจัดรุมขย้ำเด็กหญิงวัยหนึ่งขวบ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ได้มีความห่วงใยกับกรณีที่เกิดขึ้น จึงได้ติดต่อสอบถามอาการของเด็กหญิงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้ติดต่อสอบถามการรักษาไปทางโรงพยาบาลดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และประสานงานไปยัง อบต.เชิงดอย เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้โทรศัพท์ไปให้กำลังใจคุณแสงเพชร สุวรรณมณี พ่อของเด็กและได้มอบเงินจำนวน 5,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการรักษาพยาบาลนอกเหนือจากบัตร 30 บาท อีกด้วย
ดร.สาธิต เปิดเผยข้อมูลถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับ กรณีสุนัขจรจัด (ไม่มีเจ้าของ) ไปสร้างความเสียหายใครรับผิดชอบ ว่า กรณีที่สุนัขไปสร้างความเสียหายหรือทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่มีใครรับผิดชอบ ในเรื่องนี้มาดูตามข้อกฎหมายกัน ดังนี้นิยามคำว่าเจ้าของสัตว์นั้น ครอบคุมไปถึง ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดประจำหรือไม่นั้น กรณีดังกล่าวเคยมีข้อพิพาทขึ้นศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว เหตุจากที่กรุงเทพมหานคร ออก ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 โดย ข้อ 5 ได้นิยามคำว่า “เจ้าของสุนัข” หมายความ รวมถึงผู้ครอบครองสุนัขหรือผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจําด้วย ทำให้มีผู้ร่วมฟ้องคดี 5 คน เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางการปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ (กรุงเทพมหานคร) ออกกฎหมายโดยไม่ชอบ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากรณีดังกล่าว ที่ อ.764/2556 โดยอธิบายในเรื่องนี้ว่า การเป็น”เจ้าของสุนัข” ย่อมเกิดภาระตามข้อบัญญัติฉบับนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การนำสุนัขไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเขตพื้นที่ จะต้องรับผิดชอบกรณีสุนัขทำร้ายคน บาดเจ็บ ตาย หรือกรณีสุนัขหาย ต้องไปแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ด้วยและที่สำคัญต้องดูแลความเป็นอยู่ อาหาร รวมถึงการไม่ให้สุนัขไปก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นด้วย โดยหากไม่ดำเนินการหรือฝ่าฝืนอาจไปเข้าข่ายมีโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
การให้คำนิยามความหมายของคำว่า “เจ้าของสุนัข” หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” นั้น จะมีผลทำให้ประชาชนที่เพียงแต่ให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำด้วยความเมตตา ต้องมีภาระหน้าที่ในการพาสุนัขจรจัดไปฝังไมโครชิปและจดทะเบียนสุนัข มิเช่นนั้น อาจทำให้บุคคลนั้นกระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่หน้าที่ในการจัดการ ควบคุม ดูแลสุนัขจรจัดเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น แต่ท้องถิ่นกลับผลักภาระดังกล่าวมาให้กับประชาชน ดังนั้น การให้บทนิยามดังกล่าว ที่ให้หมายความรวมถึง “ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” จึงเป็นข้อบัญญัติที่เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น สร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควรและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้เพิกถอนข้อบัญญัติ ฯ ข้อ 5 เฉพาะที่ให้ความหมาย “เจ้าของสุนัข” ว่า ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำด้วย” นั่นหมายความว่า ผู้ให้อาหารสุนัขเป็นประจำก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของ ตามนัยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแต่ในทางกลับกันกรณีสุนัขจรจัด ไปสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น ศาลปกครองสูงสุด ก็เคยมีคำวินิจฉัยตัดสิน ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดูแลสัตว์จรจัดชดใช้ค่าเสียหายให้เอกชน เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1751/2559 กรณีเจ้าของฟาร์มนกกระจอกเทศ อ้างว่าสุนัขจรจัดที่อาศัยอยู่ที่บ่อขยะนั้น เป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล การที่อบต.ละเลยหน้าที่ทำให้สุนัขมารบกวนไล่ต้อน และรุมกัด จนทำให้นกกระจกเทศเสียหาย มีรายได้จากการประกอบการลดลงนั้น
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า องค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ ในการจัดการดูแลสุนัขจรจัด ซึ่งถือว่าสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ 2535 สัตว์จำต้องมีเครื่องหมายประจำตัว เมื่อพบเห็นแล้วโดยไม่ปรากฎเครื่องหมายประจำตัวสัตว์เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอำนาจจับสัตว์ควบคุมนั้นเพื่อกักขัง ถ้าไม่มีเจ้าของรับคืนภายใน 5 วัน ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจทำลายสัตว์ควบคุมนั้นได้ ตามมาตรา 9 แต่ไม่ดำเนินการในการควบคุมสุนัขจรจัด เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสัตว์ หรือเพื่อป้องกันระงับโรคติดต่อ หรือบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อบำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 67 และ มาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้ราชการผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนผู้ฟ้องคดีนั้น 

สำหรับพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 26 ระบุว่า ในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสม แล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายฉบับนี้ ก็ให้เป็นไปตาม ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยข้อ 3 ได้กำหนดแต่งตั้งให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ประกอบด้วย 12 หน่วยงานในกรมปศุสัตว์และให้ตั้งผู้อำนวยการของหน่วยงานตลอดจนถึงเจ้าพนักงานนั้นเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น (ก) ผู้อำนวยการสำนัก (ข) นายสัตวแพทย์ (ค) สัตวแพทย์ (ง) นักวิชาการสัตวบาล (จ) เจ้าพนักงานสัตวบาล (ฉ) นิติกร เป็นต้น
ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการดูแลควบคุมสัตว์ในที่สาธารณะ จะต้องถือปฏิบัติ เพราะถ้าเกิดความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่นั้น หน่วยงานราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่อาจจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากความเสียหายนั้นก็เป็นไปได้