ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวพระราชสำนัก ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

ผู้ว่าฯ มุกดาหาร ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน การให้ความช่วยเหลือ และเตรียมการรับมือภัยแล้ง

ผู้ว่าฯ มุกดาหาร ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน การให้ความช่วยเหลือ และเตรียมการรับมือภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร (อาคารสื่อสาร) นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานเปิดการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร เรื่องการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2566 และการให้ความช่วยเหลือ โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดมุกดาหาร ได้รายงานสถานการณ์ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึงปัจจุบัน จังหวัดมุกดาหาร ได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมที่พาดผ่านช่วงวันที่ 3-16 กันยายน 2566 ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง และน้ำรอการระบายในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติแล้ว ตั้งแต่ 16 กันยายน 2566 และอยู่ในระหว่างการสำรวจความเสียหายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบฯ ต่างๆ โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง 7 อำเภอ 33 ตำบล 218 หมู่บ้าน 3 ชุมชน ซึ่งได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยและเขตให้ความช่วยเหลือฯ แล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการคาดการณ์ลักษณะอากาศในพื้นที่มุกดาหาร ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม อาจจะมีฝนฟ้าคะนองร้อนละ 80 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกเป็นบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้ทำให้น้ำท่วมฉับและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มบริเวณอำเภอเมืองฯ อำเภอดงหลวง อำเภอหว้านใหญ่และอำเภอหนองสูง คาดว่าจะมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้นโดยเฉพาะบนยอดภู เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง กำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแพ้เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะระยะ คาดว่าจะมีการประกาศเข้าฤดูหนาวในช่วงสัปดาห์ที่ 3 เดือนนี้ นอกจากจะเตรียมรับมือจากฝนตก ที่อาจจะเกิดอุทกภัยแล้ว จังหวัดมุกดาหารยังได้มีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยาวนานจากสถานการณ์เอลนินโญ่ โดยจะได้มีการดำเนินการจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทาน การกักเก็บน้ำในอ่างอ่างและสำรองน้ำใช้ เพื่อการอุปโภค-บริโภค รวมไปถึงเตรียมการทำเกษตร ปลูกพืชน้ำน้อยในฤดูแล้ง รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพอื่นๆ ให้เกษตรกรเพื่อเป็นรายได้ในช่วงที่ว่างจากการเพาะปลูก จากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการข้อมูลร่วมกันให้เป็นประโยชน์ในการเตรียมการรับมือสถานการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที.

Cr.สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร