รองผู้ว่ากาฬสินธุ์ จี้ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ชี้แจง ภาพถ่ายกล้องวงจรปิดที่ชาวบ้านนำมาเปิดโปง ระบุหน้าคล้ายเจ้าหน้าที่ธนารักษ์กาฬสินธุ์พานายทุนไม้พะยูงเดินสายใช้สว่านเจาะแก่นไม้พะยูงตามโรงเรียน พร้อมสั่งการให้นายอำเภอห้วยเม็ก ตำรวจ สอบข้อเท็จจริงรายงานด่วน ย้ำต้องรู้ว่าใช่เจ้าหน้าที่ธนารักษ์หรือไม่ แล้วมีหน้าที่อะไรใช้สว่านเจาะไม้พะยูงเล็งเชือดวินัย 157 ด้าน พ่อค้าจีนรอเก้อ “อดสวาปาม” ไม้พะยูงราคาถูก หลังธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์เคลื่อนไหวบนเว๊บไซด์เป็นครั้งแรกแต่เป็นเรื่องแจ้งยกเลิกการประมูลไม้พะยูงของกลางแถมยังนิ่งสนิทไม่ให้ข้อมูลอ้างรายงานเรื่องทั้งหมดส่งไปให้ส่วนกลาง ให้ไปติดตามเอาเองกับอธิบดีกรมธนารักษ์ ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีส่งส่วนกลางตรวจสอบด่วน
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค.66 ที่ผ่านมา การตรวจสอบมีบุคคลของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง 8 ราย และยังมีปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ให้นายหน้าเข้ามาตัดไม้พะยูงภายในโรงเรียนถึง 22 ต้น กับอีก 2 ตอ ราคา 153,000 บาท โดยเรื่องนี้ จังหวัดได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.- ส.ต.ง.-ป.ป.ท. เอาผิดทางวินัย แพ่ง อาญา ล่าสุด ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ตั้งคณะไต่สวนจัดชุดใหญ่ ตรวจสำนวนตำรวจ ส่วนชาวบ้านที่รักษ์ผืนป่าทยอยส่งหลักฐาน การประมูลไม้พะยูงตามโรงเรียนในเขต สพป.เขต 2 หลายแห่ง โดยปรากฏ ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก และที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ล่าสุดยังมีการนำหลักฐานกล้องวงจรปิดจับภาพชายฉกรรจ์ 7 คน เข้าไปเจาะดูแก่นไม้พะยูง ภายในโรงเรียนโคกกลางเหนือพิทยา อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดกาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานฝึกอบรม ชุดปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือชรบ. มีกลุ่ม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อส. ทั้ง 18 อำเภอ เข้ารับฟังการอบรมภายหลังพิธีเปิด นายธวัชชัย รองงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้ให้แนวทางการทำงานที่นอกเหนือจากการร่วมกันป้องกันยาเสพติด แต่ให้ร่วมกันป้องกันหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะปัญหาการตัดไม้พะยูงในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของนายทุนค้าไม้ และรวมไปถึงการช่วยกันสอดส่องดูแลต้นไม้หวงห้ามโดยเฉพาะไม้พะยูงที่หลงเหลืออยู่ตาม วัด สถานที่ราชการ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ปรากฏเป็นข่าวฉาวหลายพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์
จากนั้น นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้เดินทางไปดูไม้ของกลางที่สำนักงานธนารักษ์พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นไม้พะยูงของกลาง จำนวน 27 ท่อน ของโรงเรียนบ้านคำเชียงวัน ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งถูกลักลอบตัด นำมาเก็บไว้ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 และมีการประกาศขายด้วยวิธีการประมูล ในวันที่ 8 กันยายนนี้ ปรากฏว่าของกลางยังอยู่ครบ
นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูง กล่าวว่า หลังจากที่มีข่าวการเปิดโปงพฤติกรรมการตัดไม้หวงห้ามโดยเฉพาะไม้พะยูง ตามโรงเรียน ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา เขต 2 กาฬสินธุ์ เป็นปัญหาข้ออ้างกล่าวถึงระเบียบพัสดุของธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ว่าสามารถกระทำได้ตามระเบียบพัสดุของกรมธนารักษ์จริงหรือไม่ และตกเป็นข่าวฉาวมานานเกือบ 1 เดือนนั้น ขณะนี้ปรากฏว่ามีชาวบ้านในพื้นที่โรงเรียนที่ถูกตัดไม้พะยูงไปแล้ว ได้ส่งเอกสารหลักฐานผ่านมายัง กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ รวมถึงชุดเฉพาะกิจ เบื้องต้นที่เป็นข่าว เกิดขึ้น 3 แห่งประกอบด้วย โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ไม้พะยูงถูกตัดไป จำนวน 22 ต้น 2 ตอ และ โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก ไม้พะยูงถูกตัดไป จำนวน 9 ต้น รวมถึง โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก ไม้พะยูงถูกตัดไป 3 ต้น ทั้ง 3 แห่งนี้ถูกตัดไม้พะยูงไปทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้นี้ ปปท.จ.ขอนแก่น ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อดำเนินการสอบสวน เกี่ยวกับระเบียบพัสดุ รวมถึงข้อห้ามตามกฏหมายในด้านต่างๆ รวมไปถึงความจำเป็นเหตุผลในการตัดไม้ จำนวนเงินที่ไม่คุ้มค่ากับราคาที่ต้องจ่ายต่อความเสียหายของไม้พะยูง
นายธวัชชัย กล่าวว่า เบื้องต้นถือว่าการประมูลไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ส่อผิดระเบียบ ผิดกฏหมาย คู่สัญญาระหว่าง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)กาฬสินธุ์ เขต 2 และ ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และคำสั่งเลขที่ กค 0305/ว 20 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องการตัดไม้ในที่ราชพัสดุ อีกทั้งมีข้อมูลการประกอบธุรกิจการค้าไม้จาก พาณิยช์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยื่นยันว่ากรณีการตัดไม้หรือประกอบธุรกิจการทำไม้โดยเฉพาะไม้หวงห้ามนั้นไม่มีจริง เพราะหากเกิดการซื้อขาย จะต้องมีผู้ประกอบการที่ชัดแจ้ง มีการแจ้งจดขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษีกับทางพาณิชย์จังหวัด และต้องได้รับการอนุญาตให้ค้าไม้หวงห้ามด้วย หากมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการค้าขายไม้หรือประมูลไม้ถูกต้องถือเป็นการลวงโลกเพราะแม้แต่จะใช้ระเบียบพัสดุก็จะต้องเสียภาษีเข้าหลวง ดังนั้นกรณีนี้ไม่เป็นความจริงยิ่งเป็นการทำไม้พะยูง(ไม้หวงห้าม) เพื่อการค้าเพื่อการส่งออกในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังไม่มีการอนุญาต และขณะนี้ได้ทำหนังสือเชิญให้ทางพาณิชย์จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้ามาร่วมตรวจสอบปัญหานี้ด้วยแล้ว
“ส่วนกรณีสื่อนำเสนอข่าวภาพหลักฐาน เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 จากกล้องวงจรปิดของโรงเรียนโคกกลางเหนือ อ.ห้วยเม็ก สามารถจับภาพ กลุ่มชายฉกรรจ์ 7 คนที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ นำสว่านมาเจาะต้นไม้พะยูงภายในโรงเรียนจำนวน 9 ต้น และมีการพูดคุยกับครูว่าจะมีการประมูลไม้พะยูงขายนั้น ได้วิทยุสั่งการไปยัง นายอำเภอห้วยเม็ก ให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำบันทึกเป็นรายงานว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ทั้งหมดนั้นคือใคร เป็นเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ในพื้นที่จริงหรือไม่ หากจริงจะต้องมีการชี้ตัว หากใช่ก็ต้องดำเนินการทางวินัย ม.157 ซึ่งจะต้องสอบถามว่า ธนารักษ์มีหน้าที่อะไรในการตระเวนใช้สว่างเจาะไม้พะยูง ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนข้อมูลจะให้ทางอำเภอประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม ซึ่งหากไม่ใช้เจ้าหน้าที่ธนารักษ์กาฬสินธุ์ ก็คงเป็นกลุ่มนายทุนจีนค้าไม้ที่เหิมเกริมแฝงตัวเป็นเจ้าหน้าที่อย่างไม่เกรงกลัวกฏหมายเข้ามากระทำการเช่นนี้ จึงถือเป็นภัยคุกคามที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันแก้ไข” รอง ผวจ.กล่าวฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าการดำเนินการสอบสวนจาก ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.จ.ขอนแก่น แต่มีความเคลื่อนไหวของหลายภาคส่วน ที่ให้ข้อมูลแนวทางเพื่อทราบข้อเท็จจริงจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน อีกทั้งสองหน่วยงานนี้ก็ยังไม่ให้ข้อมูลแต่อย่างได้ แต่ได้อ้างว่ารายงานเรื่องทั้งหมดส่งไปให้ส่วนกลาง ให้ไปติดตามเอาเองกับอธิบดีกรมธนารักษ์ รวมถึง เลขาฯสพฐ.
รายงานแจ้งว่า มีความเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์ของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ครั้งแรกตั้งแต่มีปัญหาตรวจสอบการตัดไม้พะยูงโรงเรียนเพื่อการประมูล เป็นการออกประกาศยกเลิกประมูลไม้พะยูง ที่ทำเอาวงการค้าไม้ฮือฮาอีกครั้งหนึ่ง โดยประกาศระบุว่า สำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ยกเลิกประกาศขายทอดตลาดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ (ต้นพะยูง) จำนวน 27 ท่อน ของโรงเรียนบ้านคำเชียงวัน ต.โนนแหลมทอง อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยวิธีประมูลด้วยวาจา เนื่องจากคณะกรรมการประเมินราคาต้นไม้ ขอทบทวนราคากลางมูลค่าไม้ขั้นต่ำใหม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ จึงขอยกเลิกประกาศดังกล่าว ปรากฏเป็นไทม์ไลน์ประกาศดังกล่าว เบื้องต้นพบว่าไม้พะยูงจำนวน 27 ท่อน ได้จากการตรวจยึดที่โรงเรียนบ้านคำเชียงวัน หลังถูกคนร้ายลักลอบตัด และนำมาเก็บรักษาไว้ที่ด้านหลังสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ออกประกาศขายทอดตลาดทางเวปไซต์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.66 กำหนดเปิดให้มีการประมูลไม้พะยูงจำนวน 27 ท่อน ปริมาตร 2.52 ลูกบาศก์เมตร ราคาเริ่มต้น 40,000 บาท ในวันที่ 8 ก.ย.66 ที่ห้องประชุมสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ต่อมาประกาศบัญชีไม้พะยูง ที่จะขายทอดตลาดจำนวนดังกล่าวถูกลบออกจากเว็บไซต์ ล่าสุดมีการยกเลิกประกาศ 22 ส.ค.66 และประกาศยกเลิกทางเว็บไซต์ของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ วันที่ 1 ก.ย.66 จึงทำเอาบุคคลในวงการค้าขายไม้พะยูง พ่อค้าตัวแทนนายทุนจีน ซึ่งคาดว่ามีหลายคน ที่เตรียมเนื้อเตรียมตัวไปจะประมูล รู้สึกผิดหวังไปตามๆกันเพราะไม้พะยูงมีราคาถูก
ด้านชาวบ้านในพื้นที่ อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ที่ส่งข้อมูลหลักฐานมาทาง กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ เริ่มไม่สบายใจในการทำงานเนื่องจากมองว่าล่าช้า เพราะกรณีนี้นานเกือบ 1 เดือน ซึ่งพบว่ามีเพียง ตำรวจส่งสำนวน ให้ ปปช. ดำเนินคดีกับ 8 ข้าราชการที่พัวพันกับของกลางที่หายที่หน้าเสาธงสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด แต่ในส่วนของการตัดไม้พะยูงตาม โรงเรียน กลับไม่สามารถดำเนินการทราบข้อเท็จจริงอย่างใดได้เลยแม้ทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้พยามที่จะติดตามปัญหานี้เพื่อความกระจ่างของสังคม จึงขอให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้เข้ามาตรวจสอบปัญหานี้อย่างเร่งด่วนด้วย