วันที่ 5 กันยายน 2561 เวลา 08.30-12.30 นาฬิกา ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “การใช้แรงงานบังคับ : ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และผลกระทบต่อประชาชน” โดยมี พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานเปิดการเสวนา
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวรายงานการจัดสัมมนาว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 (C29) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2512 และพิธีสาร ปี 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 (P29) เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 ถือเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ ตลอดจนให้ความคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำที่เป็นการใช้แรงงานบังคับในประเทศไทย รวมทั้งแสดงถึงเจตนารมณ์ในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานแรงงานของไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานแรงงานสากล แต่จากการที่กระทรวงแรงงานได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและขจัดการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. …. เพื่ออนุวัติตามพิธีสารฯ (P29)
และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 4 ครั้ง ได้รับทราบข้อมูลจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการถึงปัญหาเรื่องคำนิยามของการใช้แรงงานบังคับ บทลงโทษ และขอบเขตอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นยังไม่ครอบคลุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งอาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงจัดสัมมนาขึ้นเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการใช้แรงงานบังคับตามหลักการและเหตุผลของอนุสัญญา (C29) และพิธีสารฯ (P29) ฉบับดังกล่าว และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนได้ร่วมรับฟังและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและปัญหาการใช้แรงงานบังคับ เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ขณะที่ พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องการใช้แรงงานบังคับที่ถูกต้องตามหลักการและเหตุผลของอนุสัญญาและพิธีสารฉบับดังกล่าว โดยได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้แรงงานบังคับในปัจจุบันและร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับที่มีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การออกกฎหมายในเรื่องการใช้แรงงานบังคับที่สร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง และประชาชนต่อไป
ภาพ/ข่าว กฤษรชฏะชญตว์ กฤษพิพัฒนโภคิน ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน