5 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมศรีลำดวน อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2567 โดยมี นายไพฑูรย์ แก้วภมร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย ผู้แทนกองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประธานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้บริหาร หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 120 คน ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
นายไพฑูรย์ แก้วภมร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ส่วนภูมิภาคสามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและสถานประกอบการด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในภาพรวมของระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ นั้น
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้จัด แถลงข่าว “มิติใหม่การพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค” และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ผู้บริโภค พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพพนักงานเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้านงานคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม focal point ในระดับภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ด้าน เภสัชกร วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นภารกิจที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนโดยดำเนินการผ่านเครือข่ายในส่วนภูมิภาคทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับนโยบายจากส่วนกลาง ที่นำนโยบาย มาสู่การปฏิบัติ รวมถึงการกำกับติดตามในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลางทั้งด้านทิศทาง นโยบาย งบประมาณ และข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงานในส่วนภูมิภาค รวมถึงการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยผลลัพธ์เพื่อให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพมากที่สุด.
ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ รายงาน