Uncategorized

หม่อมเต่า’ย้ำ นายจ้างรีบพาต่างด้าวมาต่อใบอนุญาตทำงาน ก่อนปิดศูนย์ OSS 31 มี.ค.63

‘หม่อมเต่า’ย้ำ นายจ้างรีบพาต่างด้าวมาต่อใบอนุญาตทำงาน ก่อนปิดศูนย์ OSS 31 มี.ค.63

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำเตือนให้นายจ้างรีบพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุด 31 มี.ค.63 รีบมาต่อใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จก่อนปิดศูนย์ OSS

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน แจ้งเตือนนายจ้างให้เร่งพาแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 รีบมาดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยดำเนินการ ณ ที่ตั้งสำนักงานของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการภายในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ซึ่งทั่วประเทศมีทั้งหมด 42 ศูนย์ ในต่างจังหวัด 38 ศูนย์ ส่วนกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 4 แห่ง กรมการจัดหางาน ได้เปิดให้บริการ “Fast Track Lane” ซึ่งเป็นช่องทางพิเศษ สำหรับนายจ้างที่มีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวไม่เกิน 5 คน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการให้บริการ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน

ทั้งนี้ หากใกล้วันปิดรับ จะมีนายจ้างและแรงงานจำนวนมาก จึงขอให้เร่งมาดำเนินการแต่เนิ่นๆ และขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หากพบว่าข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน เช่น มีการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาใหม่หรือเพิ่งเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว ก็ให้แจ้งเข้า – ออกจากงานของแรงงานต่างด้าวภายใน 15 วันด้วย

ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้ 1) นายจ้างยื่นความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว บัญชีรายชื่อแรงงานฯ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในท้องที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่หรือในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของนายจ้าง/สถานประกอบการตั้งอยู่ 2) นำคนต่างด้าวไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล โดยคนต่างด้าวที่เข้าระบบประกันสังคม

ให้ตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลตามบัตร กรณีไม่เข้าประกันสังคมให้ตรวจสุขภาพ/ทำประกันสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3) คนต่างด้าวยื่นขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักร (ลงตรา VISA) ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยมีเอกสารประกอบคือ บัญชีรายชื่อแรงงานฯ (Name List) และใบรับรองแพทย์ 4) ยื่นขออนุญาตทำงาน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ที่ได้ยื่นแบบบัญชีรายชื่อความต้องการไว้ และ 5) แรงงานต่างด้าวปรับปรุงทะเบียนประวัติและจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ที่ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานคร ดำเนินการที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร

“ภายหลัง 31 มีนาคมนี้ หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว จะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าว ที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี” ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ กล่าวในท้ายสุด ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน