เชียงใหม่ – ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ หลังจากการทดสอบ ทดลอง คุณสมบัติของจุลินทรีย์หลายสายพันธุ์จนพบว่ามี 2 สายพันธุ์ที่เหมาะจะเป็นจุลินทรีย์ที่ดี จึงได้เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์โพรไบติค 2 สายพันธุ์ และนำมาผสมกับ พรีไบโอติค จากมัลเบอร์รี่ กลายเป็น ซินไบโอติค ภายใต้แบรนด์ชื่อ Synberry ที่ช่วยแก้ปัญหาอาการท้องเสีย ลำไส้อักเสบซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้นของคนไทย
ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ หรือ Agri Inno Excellent Center มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ไปพบกับ รศ.ดร.ดวงพร อมรเลิศพิศาล หัวหน้า Agri Inno Excellent Center ซึ่งนำผลงานวิจัยที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่มาแสดงให้ชม หลังจากการคัดเลือกสายพันธุ์ จึงเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์โพรไบติคพิเศษ 2 สายพันธุ์ ต่อยอดสู่อาหารเสริมป้องกันลำไส้อักเสบ ที่จะช่วยลดอาการปวดบิด ปวดมวนท้อง รวมไปถึงท้องเสียง่าย ถ่ายเหลวบ่อย ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าช่องท้องกำลังป่วย จนอาจถึงขั้นเป็นโรคลำไส้อักเสบ โดยนักวิจัยของ Agri Inno Excellent Center ได้คัดเลือก และทดสอบโพรไบติค 2 สายพันธุ์ คือ Lactobacillus salivarius และ Lactobacillus paracasei ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว สามารถอยู่รอดไปจนถึงลำไส้ใหญ่ จนสร้างสมดุลให้กับการขับถ่าย ยึดเกาะผนังลำไส้ได้ดีทำให้สุขภาพลำไส้แข็งแรง ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ระยะยาว ปลอดภัย 100% รวมไปถึงไม่สามารถส่งผ่านยีนดื้อยาไปยังแบคทีเรียสายพันธุ์อื่นได้ จึงมีแนวคิดอยากต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเมื่อได้ลองศึกษาแล้วพบว่าแท้จริงแล้ว แค่โพรไบโอติคอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการดูแลช่องท้อง หากอยากให้โพรไบโอติคทำงานได้เต็มที่ต้องมีอาหารหล่อเลี้ยงพวกมันด้วย จนได้พบว่าผลหม่อน หรือ Mulberry สามารถนำมาสกัดเป็นพรีไบโอติคชั้นดี และยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ หลายชนิด รวมถึงวิตามินซี จึงนำมารวมร่างกันและตั้งชื่อว่า ซินไอโบติค (Synbiotic) ภายใต้แบรนด์ชื่อ Synberry และเพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึง 3 เดือน ล่าสุดในวาระที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะครบรอบ 90 ปี ได้มีการแตกไลน์เพิ่มอีก 2 ชนิด โดยนำโพรไบโอติคมาผสมกับสารสกัดจากจมูกข้าวไรซ์เบอรี่ พันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้ ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ผลิตได้ล่าสุด ที่มีสารสกัดกาบ้า กลุ่มโปรตีนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นสารสื่อประสาท ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยให้สมองเกิดการผ่อนคลาย และผสมกับสารสกัดจากลำไย ที่มีสารโพลีฟีนอล ช่วยป้องกันการเสื่อมสลายและยืดอายุกระดูกอ่อนได้ยาวนานขึ้น
ผลิตภัณฑ์ซินไบโอติคที่ผลิตออกมา ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปผงบรรจุซอง ให้สะดวกต่อการพกพา ทานได้ง่าย มีรสอร่อย สามารถเทใส่ปากรับประทานได้โดยตรง หรือทานกับอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะชงดื่มกับน้ำเปล่าเย็นๆ ก็ชื่นใจ ใส่น้ำผลไม้ปั่น โรยหน้าไอศกรีม ขนมปังหรือขนมต่างๆ ทานกับโยเกิร์ตหรือซีเรียล เป็นต้น และแน่นอนว่าส่วนผสมทั้งหมดนี้ผ่านการทดสอบ วิจัยแล้วว่า ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ผ่านมาตรฐานขององค์การอาหารและยาอย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่มีรสชาติอร่อย ยังส่งผลดีต่อระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ปรับสมดุลในลำไส้ดีขึ้น กลับมาทำงานได้เป็นปกติ โดยในหนึ่งซองเล็กๆ นี้ มีโพรไบโอติคมากกว่า 20 พันล้านตัว ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ Agri Inno Excellent Center ในปีนี้
ผลสำเร็จของงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ หรือ Agri Inno Excellent Center ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบัณฑิตระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพให้เรียนรู้การเป็นบัณฑิตผู้ประกอบการ ใช้กระบวนการวิจัยแก้ปัญหาและต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไทย ในฐานะที่มาหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ เนื่องจากกระแสเทคโนโลยีที่มาแรงทำให้การจ้างงานลดลง นักศึกษาหางานทำยากขึ้น การบ่มเพาะความเรียนรู้และประสบการณ์ให้นักศึกษาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเกษตร จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมไทยในอนาคต
ไม่เพียงเท่านี้ Agri Inno Excellent Center ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความสนใจ ต้องการผลิตสินค้าใหม่ๆ อยากจะเปิดหรือเร่งธุรกิจให้โตเร็วขึ้น สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ด้วย โดยมีอาจารย์และทีมวิจัยกว่า 30 ท่านมีความเชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ คอยให้คำปรึกษา มีเครื่องไม้เครื่องมือ ห้องทดลองที่ทันสมัย ช่วยทดลอง วิจัย ด้วยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงช่วยจัดหาทุนในการสนับสนุนการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำไปสู่การเป็นนวัตกรรมผลักดันสู่การใช้งานจริง และ สามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ชั้น 1 ตึก 60 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือ ติดต่อผ่านทาง Page Facebook ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมทางการเกษตร หรือ โทรศัพท์ 053875638.
ทรงวุฒิ ทับทอง