…โฆษกกองทัพภาคที่ 3 เผย ชายแดนเป็นสุขด้วยกลไกลความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ พร้อมจับมือ ม.ราชภัฎนครสวรรค์ ร่วมมือทางวิชาการกฏหมายเพื่อความมั่นคง
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พันเอก รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมทีมช่างภาพ PR ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่ 3 สัญจรในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญของกองทัพภาคที่ 3 ตามนโยบายของกองทัพบก ณ ห้องอมราวดี อาคาร 14 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สาระสำคัญ ถึง 6 เรื่อง
ได้แก่ กลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่าง ไทย – เมียนมา ในส่วนที่กองทัพรับผิดชอบ ประกอบด้วยคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) เกิดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วย การจัดตั้งคณะกรรมการฯ RBC ลง 9 เมษายน 2533 โดยจะเห็นได้ว่ากลไกความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ที่มีอยู่ในปัจจุบันมิได้ มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความมั่นคงทางทหารเท่านั้น ยังคงรวมไปถึงการเสริมสร้าง ความร่วมมือไทย – เมียนมา ในด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การศึกษา การบรรเทาสาธารณภัย และด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่องานการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ตามพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งต้องมีภาครัฐและเอกชน ของทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมดำเนินการด้วย มีรายละเอียดดังนี้ คณะกรรมการฯ TBC ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ จ.เชียงราย มีคณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก, พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีคณะกรรมการฯ TBC แม่ฮ่องสอน – ลอยก่อ, พื้นที่ จ.ตาก มีคณะกรรมการฯ TBC แม่สอด – เมียวดี มีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ TBC จะดำเนินการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงตามแนวชายแดนภายในแต่ละเขตอำนาจของตน และปัญหาชายแดนอื่นๆ เป็นการเฉพาะ โดยจัดประชุมตามความจำเป็นของสถานการณ์ ณ สถานที่ที่เห็นชอบร่วมกัน ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ TBC ได้มีการประชุม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ในแต่ละพื้นที่เป็นประจำอยู่เสมอ
ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดย พลโท ธวัช ศรีสว่าง ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พร้อมด้วย พลตรี ทรงธรรม สิทธิพงษ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 31 ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านกฎหมาย เพื่อประโยชน์ทางราชการของทั้ง 2 หน่วยงาน ความร่วมมือทางวิชาการด้านกฎหมายดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่คณาจารย์และนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศชาติในอนาคตสืบไป
การกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำสาธารณะ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 3 ได้มอบแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรง ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดของกรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมชลประทาน และ กรมเจ้าท่า ที่ดำเนินการ ในแหล่งน้ำเปิด (แม่น้ำสายหลัก) และแหล่งน้ำปิด (คูคลอง, หนอง, บึง) อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนให้ประชาชน ในพื้นที่ได้มีจิตสำนึก ในการดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเอง ด้วยการเฝ้าระวังปริมาณการสะสมของผักตบชวา และการกำจัดสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสัญจรไปมาของประชาชน และการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ
การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์เคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤต กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดเฮลิคอปเตอร์ แบบ Bell – 212 จำนวน 1 เครื่อง จากชุดปฏิบัติการบิน หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 กองกำลังนเรศวร ร่วมกับคณะแพทย์ของโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำการบินเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน การปฏิบัติภารกิจดังกล่าว กองทัพภาคที่ 3 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งการของกองทัพบก/ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ป่วยเจ็บกรณีฉุกเฉิน โดยการร้องขอของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยยึดถือบันทึกความตกลง (MOU) เรื่อง การปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน ของกระทรวงกลาโหม ระหว่างกระทรวงกลาโหม, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อ 29 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อม ที่จะสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางทหารในการช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤตทุกโอกาส
การปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ ตามที่ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้มีนโยบายปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง ทำลาย หรือด้วยการกระทำใดๆ อันเป็นการทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สภาพป่า โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในทุกพื้นที่นั้น
การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ ในพื้นที่ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการสกัดกั้นและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย ไม่ผ่านการเสียภาษี ไม่มีการตรวจสอบและกักกันโรค รวมทั้งไม่มีการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ผู้บัญชาการทหารบก / เลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มอบนโยบายให้มีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และหากผลทางคดีสิ้นสุดแล้ว พบว่าเอกชนรายใดเป็นผู้กระทำการดังกล่าว ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชนชนได้ทราบข้อเท็จจริงด้วย