Uncategorized ข่าว เชียงราย

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าวมั่นใจในทิศทางการพัฒนาจังหวัดเชียงราย ที่จะนำไปสู่เมืองแห่งความสุข ที่ปลอดภัย สะอาด และน่ายล

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกล่าวมั่นใจในทิศทางการพัฒนาจังหวัดเชียงราย ที่จะนำไปสู่เมืองแห่งความสุข ที่ปลอดภัย สะอาด และน่ายล

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์สด ผ่านรายการข่าวภาคเหนือทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเชียงใหม่ หรือ NBT North เมื่อเวลา 16.00 น. วันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2563 ที่บริเวณสวนไม้งามริมน้ำกก ในงานดอกไม้อาเซียนเชียงราย 2019 ถนนส่วนราชการฝั่งหมิ่น ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย

โดยมีประเด็นการสัมภาษณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในรายการข่าวภาคเหนือ ว่า จังหวัดเชียงรายมีพื้นที่ 11,678.369 ตารางกิโลเมตร มีประชากร จำนวน 1,311,100 คน แบ่งการปกครอง 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,753 หมู่บ้าน 144 องค์กรปกครองท้องถิ่น อยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา และ สปป.ลาว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จังหวัดเชียงราย ได้มีการทบทวนและปรับปรุงวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงรายขึ้นใหม่ โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดภายใต้วิสัยทัศน์ว่า “เชียงรายเมืองแห่งความสุข สะอาด ปลอดภัย น่ายล” โดย “สะอาด” มุ่งเน้นให้เป็นเมืองสะอาด ที่มีการจัดการขยะที่เป็นเลิศ รวมถึง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นจังหวัดที่ใสสะอาดปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น

“ปลอดภัย” จังหวัดเชียงรายให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุและอุบัติภัย รวมไปถึงการจัดการด้านสาธารณภัยอย่างเป็นระบบ ให้ความสำคัญในด้านความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ และเป็นเมืองที่มีสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย

“น่ายล” จังหวัดเชียงรายมีจุดเด่นด้านภูมิประเทศที่ตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย มีความโดดเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา จึงมุ่งเน้นการพัฒนาให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว น่าลงทุน และน่าหลงใหลในศิลปวัฒนธรรม

โดยการบริหารการพัฒนา จังหวัดเชียงรายได้เชื่อมโยงการพัฒนาจังหวัดภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1) เมืองการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่ม GMS+6 และ AEC ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีที่ทำเลที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านการคมนาคมขนส่ง สู่กลุ่มประเทศ GMS และเป็นจังหวัดชายแดนที่เป็นประตูสู่การค้า การลงทุนการท่องเที่ยว และ Logistics สู่ประเทศ สปป.ลาว ประเทศพม่า และประเทศจีน ตอนใต้ นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมจังหวัดให้เป็นเมืองเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้ง สร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน GMS และ ASEAN+6 ตามกรอบความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเอื้อต่อกิจกรรมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อีกทั้ง ยังมีโอกาสในการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน
2) เมืองเกษตรกรรมสีเขียวและอาหารปลอดภัย โดยจังหวัดเชียงรายมีพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการเป็นแหล่งพัฒนาพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ สามารถผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่สำคัญของภาคเหนือ รวมทั้ง มีพืชเฉพาะถิ่นที่มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากลเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคระดับบน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ชา กาแฟ สับปะรดภูแล สับปะรดนางแล ลำไย ลิ้นจี่ ส้มโอเวียงแก่น ปลานิล และโคเนื้อ เป็นต้น
3) เมืองท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาเชื่อมโยงสู่ GMS และ AEC ในขณะที่จังหวัดเชียงรายมีที่ตั้งทางภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่น่าอยู่ มีทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียง ได้แก่ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และสปา เช่น น้ำพุร้อนในพื้นที่อำเภอแม่จัน อำเภอเมือง อำเภอ เวียงป่าเป้า และมีธุรกิจสปาของเอกชนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในพื้นที่
การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ เช่น โบราณสถาน อำเภอเชียงแสน วัดพระแก้ว หมู่บ้านศิลปิน บ้านดำ วัดพระธาตุดอยตุง วัดร่องขุ่น วัดห้วยปลากั้ง ไร่เชิญตะวัน รวมทั้งหมู่บ้านชนเผ่า ซึ่งอาศัยอยู่แบบดั้งเดิมบนที่สูงบนดอย รวมทั้ง การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เช่น หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน และ หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP ที่หลากหลาย การล่องแพ อุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า ดอยแม่สลอง ดอยตุง ล่องเรือในลำน้ำกก/รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ อาทิ สนามกอล์ฟหลายสนามในพื้นที่ ซึ่งมีความพร้อม และเป็นที่นิยมของชาวไทยและต่างชาติ นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังกลุ่มท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) เช่น การท่องเที่ยวตามเส้นทาง R3A , R3B และการท่องเที่ยวลำน้ำโขง เป็นต้น รวมทั้ง เมืองน่าอยู่อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี สังคมเข้มแข็ง มีความสงบ สะอาด ปลอดภัย มีระเบียบวินัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ดีมีความสุข มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ช่วยเกื้อกูลให้ชุมชนเข้มแข็ง มีการสืบทอดรักษาและปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาต่อยอดให้เกิดเทคโนโลยีที่เหมาะสม นำมาใช้ประโยชน์กับการผลิตและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จังหวัดเชียงราย ยังมีการรณรงค์ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป้าและการเผาในที่โล่ง จังหวัดเชียงราย ปี 2562-2563 ไปพร้อมกับการบรรเทาสาธารณภัยจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย

จังหวัดเซียงราย ยังเป็นจังหวัดหนึ่งที่มักประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐาน โดยมีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญ เช่น การเผาในที่โล่ง การจราจรขนส่ง และปัญหาหมอกควันข้ามแดน เป็นต้น ประกอบกับลักษณะอากาศในห้วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี จะมีความแห้งแล้ง ตลอดจนลักษณะภูมิประเทศที่มีความสูงชัน และมีแอ่งลึกในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดเป็นปัญหาดังกล่าวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานการณ์การเผาและมลพิษด้านฝุ่นละอองในพื้นที่จังหวัดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเป็นกลไกล สนับสนุนและเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันของภาครัฐให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จังหวัดเชียวรายจึงประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลดและงดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วัชพืช และขยะมูลฝอยในครัวเรือน โดยปรับเปลี่ยนวิธีการกำจัดจากการเผา ให้เป็นการนำไปใช้ประโยชน์หรือย่อยสลายด้วยวิธีที่เหมาะสม เพื่อมิให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศ อันจะนำไปสู่การเกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป

สำหรับกรอบการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของปี 2562-2563 ทางจังหวัดเชียงรายได้เตรียมรับมือการจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในปี 2563 จังหวัดเชียงราย ได้กำหนดกรอบการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของปี 2562-2563 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.) ระยะเตรียมความพร้อม (ตุลาคม – ธันวาคม 2562) ทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการโดยเน้นลดข้อจำกัดในการปฏิบัติงานให้น้อยลง ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันไฟป่าให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
2.) ระยะปฏิบัติการ ( มกราคม-เมษายน 2563) จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงราย เพื่ออำนวยการปฏิบัติงานและประสานงานกับทุกภาคส่วน ให้ได้รับข้อมูลในทิศทางเดียวกัน และ
3.) ระยะฟื้นฟู (พฤษภาคม-กันยายน 2563) สรุปผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่มา และมอบรางวัลให้กับอำเภอที่มีการบริหารจัดการไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อให้จังหวัดเชียงรายมีการพัฒนาครอบคลุมในทุกมติ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดไว้ 6 ด้าน ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การดำรงฐานวัฒนธรรมล้านนา เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงนิเวศและเชิงสุขภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ มาตรฐานสากล และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำรงความสมบูรณ์และยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า การลงทุน และบริการโลจิสติกส์ เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดกลุ่มอาเซียน+6 และ GMS
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

ซึ่งการให้ข้อมูลด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้ จึงเป็นการสื่อสารสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจให้ได้รับรู้ รับทราบ มีส่วนร่วม และมีพลังในการสนับสนุนให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดเชียงรายให้เจริญเติบโตภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความมั่นคงทั้งทางการค้า การลงทุน พลังงาน อาหาร การศึกษา และดำรงคุณค่าในฐานะแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของชาติไทย และในอนุภูมิภาคแห่งลุ่มน้ำโขงอีกด้วย

??????????????⛽??
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
03/01/63