Reporter&Thai Army ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวพิษณุโลก ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น นิตยสารตำรวจ สถานีประชาชน

“นวัตกรรมโดรนโจมตีทิ้งระเบิด” หน่วยเฉพาะกิจราชมนู รางวัลชนะเลิศ เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันชายแดน ระดับกองทัพบก

“นวัตกรรมโดรนโจมตีทิ้งระเบิด” หน่วยเฉพาะกิจราชมนู รางวัลชนะเลิศ เทคโนโลยีเพื่อการป้องกันชายแดน ระดับกองทัพบก

หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร มีภารกิจหลัก ในการป้องกันชายแดน โดยการสกัดกั้น ยับยั้ง โต้ตอบ และผลักดันการละเมิดอธิปไตยของกองกำลังต่างชาติ ในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งได้รับมอบจาก ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก โดย ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการรบได้มีการพัฒนาและ นำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในการปฏิบัติการมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเทคนิค และวิธีการรบ ในรูปแบบใหม่

การโจมตีด้วยโดรนถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ซึ่งฝ่ายเรา จะต้องมีการเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถในการใช้งาน ทั้งนี้ หน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ได้ริเริ่มประดิษฐ์นวัตกรรม โดยการนำโดรนทางการเกษตร มาดัดแปลงเป็นโดรนโจมตีทิ้งระเบิด เพื่อใช้ในการ ปฏิบัติทางยุทธวิธี เข้าโจมตีทำลายข้าศึก
1. คุณลักษณะทั่วไป
1.1 เป็นโดรน 4 ใบพัด ขนาด 36 นิ้ว ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์บัสเลส ตัวลำเป็นไฟเบอร์คาร์บอน มีความแข็งแรงทนทานและน้ำหนักเบา – ควบคุมด้วย ไฟลท์คอนโทรล Pixhawk V6X พร้อม GPS ระบุตำแหน่งที่แม่นยำ
1.2 ติดตั้งกล้องตรวจการณ์แบบ FULL HD พร้อมไฟ LED
1.3 ใช้แบตเตอรี่ขนาด 30,000 มิลลิแอมป์ จำนวน 2 ก้อน
1.4 ด้านล่างติดตั้งเซอโว จำนวน 4 ตัว ควบคุมแยกกันอย่างอิสระ เพื่อใช้ในการทิ้งระเบิด
1.5 ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมสัญญาณ เทเลมิสทรี เรดิโอ เชื่อมต่อสัญญาณกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ควบคุมการบิน ในระยะปฏิบัติการ 5 กิโลเมตร และบรรทุกน้ำหนักได้ 20 กิโลกรัม
2. การควบคุม สามารถทำได้ 2 ระบบ ได้แก่
2.1 การควบคุมด้วยรีโมทคอลโทรล ร่วมกับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อควบคุมการบินผ่านหน้าจอและดูภาพจากกล้อง ปรับโหมดการบินได้ 3 โหมด คือ โหมดควบคุมด้วยตัวเอง, โหมดการบินด้วย GPS และ โหมดการบินแบบอัตโนมัติ มีระบบการบินกลับอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด หรือสัญญาณรีโมทขาดหาย โดยเฉพาะกรณีถูกเครื่องมือตัดสัญญาณจากฝ่ายตรงข้าม โดรนจะบินกลับเองแบบอัตโนมัติ
2.2 การควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรม Mission Planner โดยการติดตั้งอุปกรณ์ รับ-ส่ง ข้อมูล เทเลมิสทรี เรดิโอ ความถี่ 433 MHz กำลังส่ง 500 mW เพื่อเชื่อมต่อโดรนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการกำหนดแผนการบินด้วยพิกัดทางทหาร (MGRS) และทำการทิ้งระเบิดได้อย่างแม่นยำ จากการทดสอบ ที่ระยะความสูง 1,000 เมตร มีความคลาดเคลื่อน ระยะ 5 เมตร ข้อดีของการควบคุมแบบนี้ จะสามารถป้องกันการโจมตีจากอุปกรณ์ต่อต้านโดรนได้
3. การประยุกต์ใช้
ติดตั้งระเบิดได้พร้อมกันสูงสุด 4 ลูก ทิ้งระเบิดแบบอิสระ โดยใช้ระเบิดแสวงเครื่อง หรือระเบิดจริงจากเครื่องยิงลูกระเบิด ขนาด 60 มิลลิเมตร และ 81 มิลลิเมตร ใช้งานควบคู่กับโดรนตรวจการณ์ เพื่อตรวจสอบพิกัดเป้าหมาย นำมาระบุตำแหน่งทิ้งระเบิดแล้วเข้าปฏิบัติการทำลายเป้าหมายแบบอัตโนมัติ

จากผลงานนวัตกรรมดังกล่าวของหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางทหารด้านยุทโธปกรณ์ ของกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ 2567 ในการนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว โดยมี ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจราชมนู กองกำลังนเรศวร เป็นผู้รับมอบรางวัล เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่หน่วยสืบไป

ทั้งนี้ จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือทราบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 จะมุ่งมั่น ตั้งใจพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อป้องกันชายแดน และรักษาอธิปไตยของชาติ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืนสืบไป.