ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวรัฐสภา ข่าวเด่น

ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย รมว.สาธารณสุข เลขาธิการสหภาพรัฐสภา (IPU) และผู้แทน WHO ร่วมแถลงขอบคุณการสนับสนุนอันดียิ่งจากมิตรประเทศเอเชีย-แปซิฟิก

2 ธันวาคม 2567  ที่ หน้าห้องบอลรูม 3 ชั้น 2 โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา และ MR. Ludy SURYANTORO Head of Multisectoral engagement for health security WHO Headquarter UNIT ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก โดยมี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ร่วมเป็นเกียรติในการแถลงข่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดประชุมส่วนภูมิภาคทางด้านสุขภาพเป็นครั้งที่สองของโลก โดยครั้งแรกจัดที่ทวีปแอฟริกา ครั้งที่สองจัดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และรัฐสภาไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ การที่สหภาพรัฐสภาและองค์การอนามัยโลกเลือกให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้เพราะเชื่อมั่นในประเทศไทยและด้านสาธารณสุขของประเทศไทย เพราะประเทศไทยได้รับการยกย่องและเป็นตัวอย่างของการรักษาในโลกนี้ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งดำเนินการมาหลาย 10 ปีและทำต่อเนื่องอย่างยั่งยืนและมั่นคง จนหลายประเทศนำไปเป็นตัวอย่าง และหลายประเทศพยายามที่จะดำเนินการให้ได้แบบที่ประเทศไทยทำนี่คือความภาคภูมิใจของชาวไทย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอในที่ประชุมถึงระบบอาสาสมัครท้องถิ่น ทำให้สามารถกระจายผู้ดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก เข้าถึงทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ระบบนี้ทำให้เราสามารถป้องกันและควบคุมการเกิดโรคระบาดได้ การจัดการประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการรักษาสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันมีโรคระบาดใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ การป้องกันด้านภัยพิบัติและสุขภาพอนามัยจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งจึงต้องจัดการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างมากที่ได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้โดยการประชุมนี้จัดขึ้นสองวัน วันนี้จะเป็นการประชุมร่วมกัน เพื่อหาข้อมติต่าง ๆ จากผู้เข้าร่วมประชุมที่มีทั้งผู้ชำนาญการและสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในวันพรุ่งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะไปศึกษาดูงาน เช่น การรักษาโดยแพทย์แผนไทย ที่ต่างชาติสนใจ ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ความร่วมมือในการประชุมครั้งนี้อย่างดีเยี่ยม รวมทั้งการจัดนิทรรศการและสถานที่ดูงานเพื่อให้คณะผู้แทนเกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเรื่องที่เป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ เป็นเรื่องที่ทุกประเทศจะได้ประโยชน์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็กแต่มีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างที่สามารถจะขยายผลให้เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติและทั่วโลก วันนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค NCDS และจะนำเรื่องนี้มาเป็นตัวชี้วัดด้านสุขภาพต่อไป ประเทศไทยมีความรู้ความสามารถในเรื่องการแพทย์ แม้เราจะเป็นที่เล็กแต่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ไปได้ และมั่นใจว่าโรค NCDS เราจะแก้ไขจะเป็นแบบอย่างให้กับประเทศต่าง ๆ ต่อไปในวันข้างหน้า

นายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา ซึ่งก่อนหน้าที่ตนได้มีโอกาสพบประธานวุฒิสภา ในการประชุมสหภาพรัฐสภา รวมถึงมีโอกาสพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนแล้ว ทั้ง 3 ท่านเป็นผู้ที่มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และถือโอกาสนี้กล่าวขอบคุณ WHO อีกครั้งที่ร่วมกับทางสหภาพรัฐสภาและรัฐสภาไทยจัดประชุมที่สำคัญในครั้งนี้ ประเด็นเรื่องสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งที่ต้องมีการหารือกัน การประชุมจะเป็นเวทีในการหารือของสมาชิกรัฐสภาเพื่อหาหนทางในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนในภูมิภาค ในเวทีการหารือครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกรัฐสภารวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเพื่อให้มั่นใจว่าความมั่นคงทางสุขภาพของภูมิภาคและของโลกจะดำเนินการไปในทิศทางใด นอกจากนี้ ในนิทรรศการเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการจัดงานในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จในส่วนหนึ่งแล้วเพราะประเทศไทยมีโอกาสแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาดและโรคโควิด-19 โดยเฉพาะบทบาทของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยดำเนินอยู่ ตลอดจนความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหภาพรัฐสภาซึ่งเป็นองค์การระดับโลกด้านรัฐสภา และ WHO ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกด้านสุขภาพ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาจากหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้หารือร่วมกันกับรัฐสภาประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรัฐสภามีเครื่องมือในการกำหนดนโยบายและออกนโยบายที่เหมาะสมในการรับมือกับความมั่นคงด้านสุขภาพในอนาคต ความร่วมมือในรัฐสภาระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านสุขภาพ
สหภาพรัฐสภาเป็นเวทีสำคัญในความร่วมมือระหว่างสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกที่มีกว่า 40,000 กว่าคนทั่วโลก เพื่อช่วยกำหนดกรอบด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนทุกคนบนโลก บทบาทของสมาชิกรัฐสภามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสมาชิกรัฐสภาทั่วโลกถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งบทบาทในด้านการตรากฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐบาล และบทบาทที่สำคัญที่สุดของการเป็นสมาชิกรัฐสภาคือเป็นตัวแทนของประชาชนในการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนสามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยอำนาจหน้าที่ของการเป็นสมาชิกรัฐสภา สหภาพรัฐสภาและ WHO สัญญาว่าจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐสภา ประชาชน และรัฐบาลไทย ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อที่จะทำให้สมาชิกรัฐสภากำหนดนโยบายกลไกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนจะเห็นได้จากนิทรรศการในห้องบอลรูม 2 จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สำคัญและมีประสบการณ์ที่ดี ที่เป็นเลิศ ที่จะแบ่งปันกับประเทศสมาชิกหลาย ๆ ประเทศ ขอบคุณประเทศไทยที่ให้โอกาสหลายประเทศได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของรัฐสภาไทยเพื่อให้ภาวะของประชาชนได้รับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง


MR. Ludy SURYANTORO Head of Multisectoral engagement for health security WHO Headquarter UNIT กล่าวขอบคุณประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของสมาชิกรัฐสภาไทยและทั่วโลก รัฐสภามีบทบาทสำคัญในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามโดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามด้านสุขภาพที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกทั้งในอนาคตอันใกล้และในไม่ช้านี้ สมาชิกรัฐสภาจะต้องมีความพร้อมในการสร้างความเชื่อมั่นต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่หลังจากที่โลกเราประสบกับภัยคุกคามทางสุขภาพอันทำให้ความเชื่อมั่นต่าง ๆ ในองค์กรภาครัฐล่มสลายลงไป สิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้คือสร้างความเชื่อมั่นให้กับคืนมาเพื่อจะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ โดยเฉพาะบทบาทของรัฐสภาในการกำกับดูแลตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล WHO พร้อมอย่างยิ่งที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคู่มือและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภาของประเทศทั่วโลก สร้างให้โลกนี้เป็นโลกที่มีสุขภาพที่ดีสำหรับพวกเราทุกคน