ข่าวกาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์ระดับน้ำเขื่อนลำปาวเริ่มลด สสจ.ลุยเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังเตือนโรคมากับน้ำท่วม

กาฬสินธุ์ระดับน้ำเขื่อนลำปาวเริ่มลด สสจ.ลุยเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังเตือนโรคมากับน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มมีแนวโน้มไปในทางดีที่ ด้านผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เผยล่าสุดระดับน้ำลดลงจากช่วงที่เกินกักเก็บแล้ว 7 ซม.แต่ยังจำเป็นต้องระบายน้ำคงที่วันละ 29 ล้านลบ.ม.เนื่องจากยังมีมวลน้ำยังไหลเข้าต่อเนื่อง ย้ำเขื่อนลำปาวได้ทำหน้าที่รับน้ำและชะลอน้ำป้องกันอุทกภัยพื้นที่ด้านท้ายได้อย่างดี ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นำ อสม. ลงพื้นที่เยี่ยมสถานพยาบาล พร้อมเยี่ยมผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง และจ่ายยาสำหรับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยได้ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพและเตือนระวังโรคในช่วงที่เกิดน้ำท่วม
วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมวลน้ำยังคงไหลเติมเข้าอ่างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ไหลเข้าเพิ่มอีก 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนลำปาวมีปริมาณอยู่ที่ 2,050 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 103.54 เปอร์เซ็นต์ จากความจุระดับกักเก็บ 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังเกินระดับกักเก็บอยู่ 70 ลูกบาศก์เมตร
ด้านนายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ระบุว่า สำหรับสถานการณ์เขื่อนลำปาวล่าสุด มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พบว่าล่าสุดระดับน้ำบริเวณหน้าอ่างเริ่มลดลง โดยเมื่อวานนี้ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำลดลง 2 ซม. และวันนี้ลดลงอีก 5 ซม.รวม 2 วันระดับน้ำลดลง 7 ซม.จากเดิมระดับน้ำสูงที่ 164.29 ม.รทก.ปัจจุบันอยู่ที่ 164.22 ม.รทก.ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้แต่เนื่องจากยังมีมวลน้ำไหลเข้ามาในอ่างเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ยังมีความจำเป็นที่ต้องระบายน้ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน โดยวันนี้ระบายอยู่ที่ 29.55 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ไปจนกว่าจะเข้าสู่เกณฑ์ปกติ
นายสำรวย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาวในปีนี้ มีน้ำไหลเข้าอ่างในปริมาณมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงนี้มีปริมาณน้ำไหลเข้าต่อวันจำนวนมาก บางวันละไหลเข้า 80 ล้าน 50 ล้าน และ 30 ล้าน ซึ่งทางเขื่อนได้ระบายสูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าเขื่อนลำปาวได้ทำหน้าที่ในการรองรับ กักเก็บ และชะลอมวลน้ำจำนวนมหาศาลไว้ เพื่อน้ำป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำได้อย่างดี
ขณะที่มีรายงานว่า นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ดร.สม นาสอ้าน นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายศิริศักดิ์ บุญไชยแสน สาธารณสุขอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ สสจ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสุเทพ ชัยรัตน์ นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่บ้านท่าสีดา ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์
นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ย้ายจาก รพ.สต.บ้านดอนยานาง เนื่องจากน้ำท่วมมายังวัดสว่างโพธิ์ทองบ้านดอนยานาง ต.ดงสมบูรณ์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เพื่อตั้งจัดปฐมพยาบาลและดูแลประชาชนชั่วคราว โดยมี นายแพทย์วรวิทย์ เจริญพร ผู้อำนวยการ รพ.ยางตลาด ดร.จักราวุฒิ วงษ์ภักดี สาธารณสุขอำเภอเมืองยางตลาด

และได้เดินทางเข้าสำรวจพื้นที่ รพ.สต.บ้านดอนยานาง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
โดยสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ได้สนับสนุน ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม แก่โรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขอำเภอที่ได้รับผลกระทบรวมถึงได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมประชาชนทันทีที่เกิดภาวะน้ำท่วม ได้จ่ายยาสำหรับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เยี่ยมดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง โดยได้ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพในช่วงที่เกิดน้ำท่วม
นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม กล่าวว่า สำนักงานสาธารณจังหวัด ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมอบหมายให้หน่วยงานและฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพื้นที่น้ำท่วม
นพ.พรพัฒน์ กล่าวต่อว่า สถานพยาบาลทุกแห่งเปิดให้บริการได้ตามปกติ ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ไม่ให้ขาดยา เพื่อเตรียมให้การช่วยเหลือ และขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ พร้อมทั้งเฝ้าระวังและป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม 3 กลุ่ม ทั้งพื้นที่น้ำท่วมและหลังน้ำลด คือ 1.อุบัติเหตุ เช่นจมน้ำ ไฟฟ้าดูด วัตถุแหลมคม
โดยเน้นให้ความรู้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูท ถึงบ้านแล้วให้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด รับประทานอาหารสุกร้อน ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร หากมีอาการเจ็บป่วยทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน 2.สัตว์ แมลงมีพิษกัดต่อย เช่น งู แมลง ปลิง เป็นต้น และ 3.กลุ่มโรคติดเชื้อ ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคไข้ฉี่หนู หรือเลปโตสไปโรซิส ทั้งนี้ หากประชาชนได้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งสายด่วนศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดกาฬสินธุ์ โทร. 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที