กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะจังหวัดเชียงราย
.
วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย นายณรงค์ อ่อนสอาด กรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและเร่งรัดการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมดาวน์ทาวน์ สถานีขนส่งเชียงรายแห่งที่ 1 ชั้น 1 โดยมีนายธเนศ โกมลธง รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายสมบัติ กิติสาร ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อพัฒนาจังหวัด คณะผู้บริหาร และบุคลากรของเทศบาลนครเชียงราย ให้การต้อนรับ
.
โดยคณะฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเทศบาลนครเชียงราย ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะนครเชียงราย จำนวน 4 ด้าน ดังนี้ 1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) จัดทำโครงการจัดการขยะแบบครบวงจร การคัดแยกขยะ การรักษาความสะอาด และโครงการจัดการน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และแหล่งน้ำ 2) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) จัดทำโครงการเชียงรายต้นแบบเมืองอาหารปลอดภัย และโครงการศูนย์บริการนักท่องเที่ยววอัจฉริยะ 3) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) จัดทำโครงการระบบการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนตามแนวคิด การจัดการเรียนรู้ที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย และ 4) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) จัดทำโครงการดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนแบบองค์รวม เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบบริการสุขภาพ เป็นต้น
.
สำหรับการมีส่วนรวมของประชาชนพบว่า เทศบาลนครเชียงรายได้สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบแผนการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะนครเชียงราย โดยการลงพื้นที่เพื่อจัดประชาคมในชุมชน โดยพบปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มีดังนี้ 1) บุคลากรของเทศบาลนครเชียงราย ขาดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี 2) ขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินโครงการ
.
ในโอกาสนี้ นายณรงค์ อ่อนสอาด กรรมาธิการและประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้ให้ข้อแนะนำแก่คณะผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบด้วย 1) ปัญหาด้านงบประมาณ เทศบาลนครเชียงราย ควรระบุเหตุผลความจำเป็นและระบุว่าเป็นโครงการเพื่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นที่ 6 พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจริยะ ในคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณา 2) เทศบาลนครเชียงราย ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เช่น การใช้ระบบ e – Service การใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนติดต่อได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดการใช้กระดาษได้อย่างมาก
.
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลที่ได้รับทั้งจากการบรรยายสรุป และสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไปใช้ประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจ และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา และรัฐบาลโดยลำดับต่อไป
.
จากนั้น เวลา 14.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และกราบสักการะหลวงพ่อพบโชค ณ วัดห้วยปลากั้ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงราย และเพื่อความเป็นสิริมงคล
ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน