จันทบุรี-ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ
เตรียมพร้อมป้องกันภัยแล้ง แนะเกษตรกรใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและประหยัด เผื่อแผ่ เข้าใจและแบ่งปัน วันนี้ ( 2 ธ.ค.62 ) ที่ บริเวณฝายยาง ตำบลจันทนิมิต และที่บริเวณเขื่อนคิรีธาร อ.มะขาม นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้นำคณะกรรมการศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดจันทบุรีลงพื้นที่ดูแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนป้องกันภัยแล้งลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตประปา แหล่งน้ำอุปโภค – บริโภค และแหล่งน้ำทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดได้เตรียมรับมือป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งไว้แล้วทั้งการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร การจัดทำแผนบูรณาการป้องกันปัญหาทั้งระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ตามข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดจันทบุรี
พบว่า ปีนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก และอ่างกักเก็บน้ำรวม 8 แห่ง ยังคงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชนแต่ต้องใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และ ประหยัดรวมทั้งบริหารจัดการอย่างรอบครอบ โดยข้อมูล ณ วันที่ 2 ธ.ค.62 พบว่า ปริมาณน้ำที่เขื่อนคิรีธารสามารถกักเก็บได้ 70.244 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 92.43 ของความจุเขื่อน / ปริมาณน้ำเขื่อนพลวง 72.504 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90.43 ของความจุเขื่อน / ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย 10.888 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90.73 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ 56.312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72.19 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำคลองประแกต 59.921 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 99.44 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองวังโตนด 6.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74.92 ของความจุอ่าง / ปริมาณน้ำฝายยางจันทบุรี 3.660 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87.14 ของความจุฝาย และ ปริมาณน้ำฝายยางท่าระม้า 0.872 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 105.06 ของความจุฝาย
อย่างไรก็ตามจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพืชสวนจำนวนมาก และต้องใช้น้ำในการบำรุงผลผลิต จึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ภัยแล้ง และขณะนี้สภาพอากาศของจังหวัดจันทบุรีฝนได้ทิ้งช่วงแล้ว จึงขอให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้เตรียมความพร้อมป้องกันภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร การเตรียมตัวป้องกันที่ดีจะลดผลกระทบที่อาจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี และหากประสบปัญหาวิกฤติเกษตรกร หรือราษฎรที่ได้รับผลกระทบสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้านหากความเดือดร้อนขยายวงกว้างจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พร้อมให้การสนับสนุนทันทีตามแผนเผชิญเหตุที่วางไว้
https://youtu.be/P8zDbZqHrMw
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก