ลดแน่!! เจ็บ ตาย ปี 2564 อุดรธานีตั้งเป็นจังหวัดต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างแน่นอน
สภาพปัญหา
จังหวัดอุดรธานีได้เก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน สาธารณสุข/ตำรวจ/บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตามข้อกำหนดทั่วประเทศตั้งแต่เมื่อปีงบประมาณ 2559 เป็นจังหวัดแรกของประเทศที่เก็บข้อมูล 3 ฐานนำมารวมกับฐานข้อมูลทุกภาคส่วนซึ่งได้รับแจ้งข้อมูลจาก อสม/ผู้นำชุมชน/รพ. สต/โรงพยาบาลรัฐและเอกชนหน่วย/กู้ชีพ/มูลนิธิ/Social Media ต่างๆ รวมข้อมูลศูนย์ข้อมูลเดี่ยว ที่งานอุบัติเหตุสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จึงเป็นข้อมูลเสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนครบถ้วนทุกราย ตามนิยาม ติดตามนอนโรงพยาบาลครบ 30 วัน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงเพราะเป็นตัวเลขจริงสะท้อนว่าจังหวัดอุดรธานีมีปัญหา สาธารณภัยจากอุบัติเหตุทางถนนที่รุนแรงทำให้เสียชีวิตจำนวนมากกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและ GDP ของประเทศ(สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDWI) ได้คำนวณมูลค่าความเสียหายจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงปี 2554 ถึง 2556 มูลค่าของอุบัติเหตุเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 545,435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ได้สอบถามข้อมูลเชิงลึกของผู้เสียชีวิตทุกรายนำมาวิเคราะห์ ให้ทุกหน่วยงานนำไปวางแผนแก้ปัญหาสาเหตุทันที พร้อมรายงานข้อมูลตอบโต้สถานการณ์ได้ทุกวันในปีงบประมาณ 2559 จังหวัดอุดรธานี มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ (ข้อมูล 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559) เกิดเหตุ 14,264 ครั้ง บาดเจ็บ 16,303 ราย (973.65 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิต 396 ราย (25.18 ต่อแสนประชากร) เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 33 ราย วันละ 1.08 คน โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่เฉลี่ยวันละ 1.29 คน ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากกลุ่มอายุ 29-59 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 19 ปี (เริ่มเก็บสถิติอุบัติเหตุทางถนนปี 2540)
ผลกระทบต่อประชาชน
1.ผู้เสียชีวิตส่วนมากร้อยละ 88.15 เป็นประชาชนในชุมชน/หมู่บ้าน ที่เป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเสียชีวิตบนท้องถนนในหมู่บ้านของตนเองร้อยละ 32.23 และออกจากหมู่บ้านเพื่อประกอบอาชีพมาเสียชีวิตบนทางหลวงร้อยละ 55
2.กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี (กำลังอยู่ในสถานศึกษา) มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงขึ้น
3.ผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยเดือนละ 1,359 คน มีเพียงร้อยละ 32 เท่านั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่สถานพยาบาลได้รับค่าชดเชยจาก พรบ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
4.เกิดผู้พิการจากประสบอุบัติเหตุทางถนนปีละ 10 – 20 คน และความสูญเสียของทรัพย์สินที่ต้องเป็นภาระของครอบครัวและกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศชาติ
แนวคิดผู้บริหารระดับจังหวัดในการดำเนินงาน
ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอุดรธานี ได้เห็นความสูญเสียของครอบครัวจากอุบัติเหตุทางถนนที่ประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ โดยได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา นำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเน้นการส่งเสริมให้เกิดผู้นำเชิงบูรณาการทุกระดับ (จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน) ดำเนินงานแบบประชารัฐ ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติได้ตามหน้าที่ ประชาชนมีความสามัคคีเข้มแข็ง ตามหลัก เข้าใจ คือ เข้าใจประชาชนความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เข้าใจความสำคัญของงานของรัฐบาลและงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม เข้าถึง คือ เข้าถึงข้อมูลเชิงวิเคราะห์เข้า ถึงทุกพื้นที่ เข้าถึงผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการ และเข้าถึงใจประชาชน พัฒนา คือ กำหนดเป้าหมายชัดเจน พัฒนาอย่างเป็นระบบทุกด้านควบคู่กัน โดยใช้ทรัพยากร คน งบประมาณ การบริหารจัดการในพื้นที่ มีข้อมูลข่าวสารจึงรวมศูนย์ข้อมูลเดียวถูกต้องและเที่ยงตรง ทันสมัย ฉับไวทันเหตุการณ์ประเมินผลปรับเปลี่ยนให้ตอบโต้สถานการณ์ได้ตลอดเวลา ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามรัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2558 ถึง 2563 “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
กลยุทธ์ ความรู้ กระบวนการที่นำมาใช้
ปี 2560 จังหวัดอุดรธานีได้พัฒนาการดำเนินงานระดับการจัดการสุขภาพอำเภอป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (DHS-RTI:District Health System-Road traffic injuries) ขับเคลื่อนถึงระดับตำบลโดยคัดเลือกตำบลที่มีชีวิติเสียชีวิตสูงสุดในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 1 ตำบล นำร่องของทุกอำเภอ จำนวน 20 อำเภอ ประยุกต์ใช้ระบบสุขภาพตำบล (Sub District Health System: SDHS) เป็น “20 ตำบลต้นแบบป้องกันลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานี” (Sub District Health System-Road traffic injuries) ขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ผ่านขึ้นสู่ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ(ศปถ.อำเภอ) ภายใต้กรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโดยใช้กลยุทธ์ “5 ส.5 เสาหลัก” เป็นแนวทางดำเนินงานเข้าถึงผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียตอบโจทย์จังหวัดอุดรธานีรถผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุทาง
ถนนลงสร้างคุณภาพชีวิต มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
แนวทางแก้ปัญหาและขั้นตอนในการดำเนินงาน
1. จัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานอุดรเมืองถนนปลอดภัยปีงบประมาณ 2559- 2563
2. กำหนดปัญหาเฉพาะหน้าที่ส่งผลกระทบมากที่สุดในการดำเนินการเร่งด่วน
3. กำหนดมาตรการดำเนินงาน
4. ขั้นตอนสำคัญในการปฏิบัติจริง
ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดอุดรธานี(ศปถ.จังหวัด) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ และให้หัวหน้าสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นเลขาฯ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เป็นคณะกรรมการทำงานด้านข้อมูลประมวลผลและสอบเชิงลึกอุบัติเหตุทางถนน ได้ส่งเสริมให้เกิดผู้นำเชิงบูรณาการ อำเภอ/ตำบล/อปท./หมู่บ้าน ขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องดังนี้
1. จะทำวาระจังหวัด “การดำเนินงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี”
2. จัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดปี โดยใช้นโยบายรัฐแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน และแผนปฏิบัติการเป็นกรอบแนวทางโดยคณะกรรมการ ศปถ.จังหวัด ศปถ.อำเภอ ศปถ.อปท. ประชุมและรายงานผลทุกเดือน โดยนำประเด็นที่ต้องการแก้ไขความเสี่ยงร่วมกำหนดมาตรการจัดการและตรวจสอบผลของมาตรการที่ผ่านมาเพื่อปรับแก้ไขให้ตอบโจทย์สถานการณ์ทันทีหรือทันทีกรณีฉุกเฉินต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนครอบคลุมทุกพื้นที่
3. ศปถ.จังหวัด คืนข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกของพื้นที่ให้ ศปถ.อำเภอ ทุกแห่ง ขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกเดือน
4. ศปถ.อำเภอ คัดเลือก 1 ตำบล มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในปีงบประมาณ 2559 เป็นตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานีในปีงบประมาณ 2560
– ปีงบประมาณ 2561 ขยายผลออกดำเนินการ 112 ตำบล
– ปีงบประมาณ 2562 ดำเนินการครอบคลุมทุกตำบล
5. ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในลักษณะยึดตำบลต้นแบบเป็นแนวตั้ง (Area Approach) แต่งตั้งคณะกรรมการตำบลต้นแบบฯประชารัฐ โดยมี ผอ.รพ.สต เป็นเลขากำหนดเป้าหมาย จัดทำแผนงาน เน้นการใช้คน งบประมาณ ทรัพยากร ที่มีในพื้นที่และต่อยอดทุนเดิมที่มีในพื้นที่ให้เกิดความคุ้มค่าในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
6. ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลต้นแบบได้ดำเนินการการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและประชาชนเกิดคุณภาพชีวิตที่ดี
7. จัดตั้งทีมสอบสวนเชิงลึกอุบัติเหตุทางถนนระดับตำบลวิเคราะห์นำข้อมูลขับเคลื่อนต่อเนื่อง
8. คัดกรองและจัดการปัจจัยเสี่ยง คน-รถ-ถนน-สิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการชุมชนของคนในหมู่บ้าน
9. ประกาศมาตรการถนนตัวอย่างและกำหนดให้ปฏิบัติพร้อมบทลงโทษเมื่อไม่ปฏิบัติตาม
10. สื่อสารความเสี่ยงผ่านหอกระจายข่าวและ Social Media ต่างๆ
11. ขับเคลื่อนการดำเนินงานประชาคมหมู่บ้านผ่าน พัฒนาชุมชน เกิดกลไก “ด่านชุมชนป้องกันคนในหมู่บ้าน” ในช่วงเทศกาล งานบุญของหมู่บ้าน
12. คณะกรรมการหมู่บ้านประสานความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าสร้างจิตสำนึกคนในชุมชนจัดการหมู่บ้านปลอดเจ้างานบุญ งานศพอย่างต่อเนื่อง
13. สถานศึกษาสอนวินัยจราจรในโรงเรียนโดยบูรณาการร่วมกับตำรวจ
14. สรุปผลการประชุม ข้อเสนอแนะเสนอผู้บริหารให้กำหนดเป็นนโยบายสาธารณะในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และดำเนินงาน 10 กิจกรรมหลักอย่างต่อเนื่อง
ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินงานและวิธีระดมทรัพยากรต่างๆ
1.ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ระดมทุนของชุมชนทั้งในเรื่อง การจัดการ ถนน-รถ-คนเสี่ยง
2. อปท. งบสร้างเสริมสุขภาพตำบล
3. ทรัพยากรคนของพื้นที่
4. จากการบริจาคสิ่งของ เช่นยางรถยนต์ ถาดใส่อาหารที่วัด
การสร้างความยั่งยืนและการขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นโดยขยายผล
• ปีงบประมาณ 2560 อำเภอผ่านตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 1 ตำบล
• ปีงบประมาณ 2561 อำเภอผ่านตำบลต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 50
• ปีงบประมาณ 2562 อำเภอต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 50
• ปีงบประมาณ 2563 อำเภอต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 80
• ปีงบประมาณ 2564 ประกาศเป็นจังหวัดต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
บทเรียนที่ได้รับคือ
1. อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกคนการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุคนจะต้องเข้าใจปัจจัยเสี่ยงและลดความเสี่ยงป้องกันการเกิดเหตุทุกครั้งเดินทางบนท้องถนน
2. การลดอุบัติเหตุต้องเข้าใกล้คนเผชิญเหตุมากที่สุดคือชุมชน
3. มาตรการสังคม คือข้อกำหนดพี่ให้ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
4. ชุมชนรู้ปัญหาและเป็นผู้แก้ปัญหาตรงจุดและยั่งยืน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1. เกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดและของหน่วยงาน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี มองเห็นภัยใกล้ตัว และกระทบต่อองค์กรเล็กสุด คือ ครอบครัว ซึ่งเป็นฐานสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของประเทศ จึงใช้หลักระเบิดข้างใน ให้ประชาชน เข้าใจว่าเป็นปัญหาของทุกคน เข้าถึงสถิติที่คืนให้กับประชาคมหมู่บ้าน นำไปสู่การพัฒนา กำหนดเป้าหมายชัดเจน ดำเนินงานอย่างเป็นระบบทุกด้านควบคู่กันโดยใช้ทรัพยากร คน งบประมาณ การบริหารจัดการในพื้นที่
2. การยึดพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดอุดรธานีโดยมีสื่อมวลชนสนใจทำข่าวและประชาสัมพันธ์ตลอดเวลาทำให้เกิดกระแสคนในพื้นที่ตื่นตัวล้อมวงแก้ปัญหาพื้นที่ด้วยตนเอง
3. ผู้บริหารมีความสามารถในการเชื่อมโยง ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของภาค บูรณาการ จัดทำแผนป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด/อำเภอ/อปท. และตำบลต้นแบบฯ
4. การส่งเสริมให้เกิดผู้นำเชิงบูรณาการทุกระดับ(จังหวัด-อำเภอ-ตำบล-หมู่บ้าน)
5. การส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้อำนาจเต็มที่ตามหน้าที่ที่กำหนด
…………………………….
กฤตยชญ์ พิงคะสัน จังหวัดลำพูน เรียบเรียงข้อมูล