เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมหลายหน่วยงาน “ปูพรมปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” แนะนำป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในเขตพื้นที่ต.แม่ทา อ.แม่ออนเชียงใหม่
วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายรัตน์ ผุสดี เกษตรอำเภอแม่ออน เจ้าหน้าที่จากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอารักขาพืช(ศทอ.) เจ้าหน้าที่ มทบ.33 ลงพื้นที่ให้คำแนะนำป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในเขตพื้นที่ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ โดยแนะนำให้เกษตรกรร่วมกันกำจัดหนอนด้วยวิธีกล จับหนอนพร้อมทำลายทิ้งทันที
จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm : FAW) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบการระบาดในพื้นที่ปลูกข้าวโพดของจังหวัดหลายอำเภอ ที่ได้รับรายงาน จำนวน 15 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม ฮอด กัลยานิวัฒนา แม่อาย แม่ออน พร้าว เชียงดาว สะเมิง จอมทอง แม่แตง สันป่าตอง สันทราย ดอยเต่า แม่วางและเวียงแหง พื้นที่ปลูกข้าวโพดรวมจำนวน 159,421 ไร่ พื้นที่ได้รับรายงานการระบาด จำนวน 68,899 ไร่ คิดเป็น 43 % ของพื้นที่ปลูกข้าวโพด ซึ่งเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่และเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอและ ศทอ. ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบการระบาดของหนอนกระทู้ชนิดนี้และจากการตรวจสอบความเสียหายพบว่า หนอนได้กัดกินใบข้าวโพด ที่มีอายุตั้งแต่ 15-30 วัน
โดยนอกจากหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะเป็นศัตรูที่สำคัญของข้าวโพดซึ่งเป็นอาหารหลักแล้ว ยังทำลายพืชอาหารชนิดอื่นมากกว่า 80 ชนิด เช่น ข้าว อ้อย ข้าวสาลี มะเขือเทศ กล้วย ฝ้าย ยาสูบ เป็นต้น การเข้าทำลายพืชเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น ซึ่งทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอด และใบข้าวโพดทำให้ต้นอ่อนตาย ต้นไม่เจริญเติบโต ฝักไม่สมบูรณ์
นางเบญจวรรณ อินต๊ะ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด และพืชอื่นที่จัดอยู่ในอาหารของหนอนกะทู้ข้าวโพดลายจุด จึงสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตื่นตัวรู้จักหนอนชนิดนี้รวมถึงการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธีและคำนึงถึงจุดคุ้มทุน โดยแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงข้าวโพดตั้งแต่งอก เพื่อควบคุมก่อนการระบาด
ทั้งนี้หากเกษตรกรพบหนอนสามารถควบคุม และป้องกันได้หลายวิธี โดยเน้นการใช้วิธีกล เช่น เก็บกลุ่มไข่หนอนบี้ทำลาย ใช้กับดักกากน้ำตาล ติดกับดักกาวเหนียวสีเหลือง 80 กับดักต่อไร่ เป็นต้น การใช้ชีววิธี ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเจนซิส(BT) สายพันธุ์ไอซาไว หรือสายพันธุ์เคอร์สตากี้ ชนิดผง พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด หรือปล่อยแมลงหางหนีบ มวนพิฆาต
หากพบการะบาดมากสามารถใช้สารเคมี ได้แก่
-สารสไปนีโทแรม 12% sc (กลุ่ม 5) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG (กลุ่ม28) อัตรา 6 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC(กลุ่ม 28) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC (กลุ่ม 13)อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
-สารอินดอกซาคาร์บ 15% SC (กลุ่ม22) อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ควรพ่นสารกำจัดแมลงทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน (1 วงรอบชีวิต)
เพื่อลดความต้านทานสารเคมี
สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกร หากพบอาการระบาด
ของหนอนกะทู้ข้าวโพดดังกล่าว ให้แจ้งสำนักงานเกเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการระบาดในพื้นที่ต่อไป.
ทรงวุฒิ ทับทอง