ข่าวพังงา ข่าวรอบรั้วภูธร ข่าวเด่น

ย้ายพลายไข่นุ้ย ตัวตึงกรุงชิง เข้าศูนย์บริบาลช้างป่าสถานีเพาะเลี้ยงพังงา

2 พฤษภาคม 2567  เวลา 09.30 น. ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา จ.พังงา ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  พร้อมด้วยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายเพิ่มศักดิ์ คงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า และ น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตัดเชือกป่านสัญลักษณ์เพื่อเป็นการเปิดคอกบริบาลปล่อยช้างป่าพลายไข่นุ้ย (พลายเจ้างา) เข้าสู่ศูนย์บริบาลช้างป่า ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา อ.เมืองพังงา จ.พังงา


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงาดำเนินการก่อสร้างคอกอนุบาลช้างป่า “พลายเจ้างา” เพื่อเป็นสถานที่ดูแล รักษาและพักฟื้นช้างป่าซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาช้างป่ารบกวนประชาชนโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างคอกช้างป่าได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นคอก ขนาด 4 ไร่ มีบ่อน้ำ และโรงช้างสำหรับดูแลรักษา ตรงกลางเป็นกึ่งป่าธรรมชาติ มีพืชอาหาร ป่าไผ่ และต้นไม้ใหญ่ ล้อมรอบด้วยเพนียดปูนกั้นช้าง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 6 ล้านบาท ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำหนดให้มีการเคลื่อนย้ายช้างพลายเจ้างาจาก อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อนำมาปล่อยเข้าสู่อนุบาลช้างป่าณสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงาจังหวัดพังงา
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างคอกอนุบาลช้างป่า ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมอุทยานฯ ร่วมกับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการและการดูแลสัตว์ป่าเพื่อไว้รองรับช้างป่าที่มีพฤติกรรมทำร้ายประชาชนเพื่อปรับพฤติกรรมให้คลายความดุร้านลง หรือรองรับช้างป่าบาดเจ็บที่ต้องการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่ 4 ไร่ เป็นคอกคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความแข็งแรง ขนาดกว้าง 80X80 เมตร สูง 2.60 เมตร ภายในคอกช้างประกอบด้วย ซองช้างขนาด 9X12 เมตร สระน้ำช้างขนาด รัศมี 13 เมตร และที่ใส่น้ำขนาด 2.0X 0.5 เมตร ลึก 0.6 เมตร จำนวน 3 จุด โดยมูลนิธิฯ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมด เป็นเงิน 6 ล้านบาท