2 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะเดิน ได้ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อรับฟังข้อมูลภาพรวมของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง โดยมี นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน และพี่น้องประชาชน ให้การต้อนรับ ซึ่งกรมชลประทานได้ดูแลรับผิดชอบตามลำน้ำชีตอนกลาง ความยาว 502 กิโลเมตร ซึ่งมีเขื่อนทดน้ำในลำน้ำชี จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.เขื่อนชนบท 2.เขื่อนมหาสารคาม 3.เขื่อนวังยาง และ 4 เขื่อนร้อยเอ็ด
โดย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามเรื่องการบริหารงบประมาณ เพื่อจะได้จัดสรรในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ส่วนการบริหารจัดการน้ำปีนี้ถือว่าทำได้ดีไม่ท่วมไม่แล้ว เป็นที่พอใจ แต่ยังต้องพึ่งธรรมชาติ และเน้นย้ำให้กรมชลประทานใส่ใจดูแลน้ำให้เพียงพอตามที่ประชาชนต้องการ ส่วนโครงการที่ขอมาได้อนุมัติไปบางส่วนแล้ว
ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ด ในช่วงฤดูฝนหากมีพายุลมมรสุมพัดผ่าน จะทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงในลำน้ำชีจำนวนมาก จนเกินความจุของลำน้ำชี จะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นจนล้นเอ่อ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูก และอาคารบ้านเรือนของประชาชน ส่วนในฤดูแล้ง หากในปีใดมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำชีน้อย หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จะทำให้น้ำต้นทุนในลำน้ำชีมีน้อย เกษตรกรก็ได้รับน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ทางกรมชลประทาน นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 4 โครงการหลัก รวมวงเงินงบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท เช่น สถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย พร้อมระบบส่งน้ำเขื่อนร้อยเอ็ด ที่จะช่วยให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเชียงใหม่ อำเภอโพธิ์ชัย, โครงการพนังกันน้ำชีฝั่งซ้าย ระยะทาง 18 กิโลเมตร ในเขตอำเภอจังหาร จนถึงอำเภอโพธิ์ชัย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณสองฝั่งลำน้ำชี, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด สุดท้าย คือ โครงการแก้มลิงหนองหิน อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักทั้งการเกษตร อุปโภค-บริโภค และเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง ประชาชนได้รับผลประโยชน์ 371 ราย
สมนึก บุญศรี ผุ้สื่อข่าวร้อยเอ็ด รายงาน