2 มีนาคม 2567 ที่ หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” ปี 2567 โดยมี แม่บ้านมหาดไทย คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 39 ร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดร้อยเอ็ด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และพสกนิกรทุกหมู่เหล่าเข้าร่วมพิธี
นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานในพิธีได้นำพสกนิกรทุกหมู่เหล่าถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษ์ณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จุดเทียน เครื่องทองน้อย กล่าวถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายชูศักดิ์ ราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า วันนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2513 พระบาทสมเด็จพระบรม
ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างของไทยความตอนหนึ่งว่า
“… ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่าง จึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุก ๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอ
กับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ
ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริง ๆ ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไร สำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า” พระองค์ได้ฝากความคิดนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลที่มีพระราชดำริถึงความสำคัญของช่างฝีมือ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนในสังคม จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้มีฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพราะนั่นหมายถึงคุณภาพของสินค้าและบริการตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย แม้จะผ่านมาถึง 54 ปีแล้ว ยังคงทันสมัยและนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
สมนึก บุญศรี ผู็สื่อข่าวร้อยเอ็ด รายงาน