30 กันยายน 2567 ที่ มูลนิธิ มงคล-จงกล ธูปกระจ่าง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ว่าที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เชิญผู้เชี่ยวชาญปรึกษาหารือเตรียมรับน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนเข้าท่วมปทุมธานี และเดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำ ที่สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมวลน้ำเหนือที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทปล่อยสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุนสูงจะกระทบบ้านเรือนที่อาศัยริมน้ำเจ้าพระยาทางจังหวัดปทุมธานีและใกล้เคียง
โดยมี รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ , นายสรชัด สุจิตต์ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต 1 พรรคชาติไทย , ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต เจ้าของพื้นที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา , นายพีระศักดิ์ พงษ์พุฒิพัษฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านปทุม เจ้าของพื้นที่ต่ำสุดของจังหวัดปทุมธานี ร่วมประชุมหารือแนวทางป้องกันน้ำท่วมจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมวลน้ำเหนือที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทปล่อยสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุนสูงกระทบบ้านเรือนที่อาศัยริมน้ำเจ้าพระยา
นายสรชัด สุจิตต์ ส.ส.สุพรรณบุรี เขต1 กล่าวว่า อดีตในปี 54 เดือนสิงหาคมเดือนเดียวพายุเข้า 5 ลูก และกลัวน้ำท่วมกรุงเทพจึงไม่ให้น้ำผ่าน จึงกักน้ำไว้ด้านบน สะสมน้ำไว้เยอะเมื่อพายุเข้าอีกก็จบจึงเกิดน้ำท่วมหนัก จากประสบการณ์ในอดีตการบริหารจัดการน้ำ ต้องทำให้น้ำลงทะเลให้ไวและมากที่สุด จากปัญหาฝนตกภาคเหนือ และมีน้ำท่วมหลายจังหวัด มีปริมาณน้ำมาก จึงต้องมีการเร่งระบายน้ำ โชคดีที่มีการเว้นช่วง ซึ่งพายุที่เข้าเชียงใหม่ น้ำก็จะไหลเข้าสู่เขื่อนภูมิพล แต่ก็ไม่ได้เยอะมากส่งผลให้มีน้ำท่วมบางพื้นที่ ซึ่งจากการคาดการณ์น้ำเหนือมวลนี้ อาจจะถึงจังหวัดสุพรรณบุรีภายใน 15 วันและ 20 วันถึงจังหวัดปทุมธานี จึงต้องวางแผนการป้องกัน ซึ่งต้องประสานกันตั้งแต่จังหวัดต้นน้ำและจังหวัดปลายน้ำสถานการณ์ยังคงต้องเฝ้าดูว่าพายุที่จะเข้ามาจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากไม่เตรียมตัวเมื่อมีพายุเข้าฝนตกหนักมวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงมาน้ำทะเลหนุน จะมีจังหวัดหลายจังหวัดเดือดร้อนและบ้านเรือนประชาชนรวมถึงพื้นที่เกษตรจะเสียหายจำนวนมาก
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทปล่อยน้ำมาในปริมาร 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากที่มีพายุซูลิกเข้ามาทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สามเงา แม่น้ำวัง และ แม่น้ำยม อ.วังชิ้น ผ่านสุโขทัยมา มวลน้ำเหล่านี้จะมารวมที่เขื่อนเจ้าพระยา จึงต้องบริหารความเสี่ยงโดยดูจากการระบายน้ำสูงสุดที่เขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณเท่าไร วันนี้เราเตรียมการณ์ในระดับ 2,500 ไว้ก่อน ซึ่งกระทบประชาชนแน่นอน เพราะขณะนี้ปล่อยมา 2,000 เหลือช่องว่างแค่ 500 เอง 2 ถึง 3 วันนี้มีพายุเข้าที่ภาคเหนือ ฝนจะตกหนัก สิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยง เราจึงต้องบริหารเตรียมความพร้อมไว้ก่อน ปริมาณ 2,500 ก็จะใกล้เคียงกับปี 64 และปี 65 ประชาชนที่เคยประสบกับน้ำท่วมเมื่อปี 65 ก็ต้องติดตามสถานการณ์ ส่วนในงานต่าง ๆ ผมคิดว่าทาง อบจ.ทางเทศบาล จากนี้มีเวลา 15-20 วัน เตรียมรับน้ำเพราะวันที่ 20 ตุลาคม 2567 น้ำทะเลจะหนุนสูงที่สุด จังหวะน้ำเหนือมาพอดีจึงเป็นประเด็จหลักที่เราต้องบริหาร ทุกวันนี้พื้นที่ให้น้ำอยู่มันไม่มี มันจะร่อยหรอไปเรื่อย ๆ จึงต้องประเมิน ในส่วนของน้ำทะเลหนุนนั้นได้เริ่มหนุนมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2567 นี้แล้ว แต่จะหนุนสูงสุดในวันที่ 19-20-21 สิงหาคม 2567 เป็นช่วงที่อันตราย ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ส่วนใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมอยู่แล้วจึงต้องเฝ้าระวัง
พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กล่าวว่า เมื่อปี 64 ปี 65 ที่รอดมาได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องเชิญหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทั้ง 2 ฝั่งเจ้าพระยาเอามาทำงานร่วมกัน เชิญ จ.นครสวรรค์ อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา และ กทม. มาร่วมประชุมกัน ทันทีที่ กกต. รับรอง ก็พร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ จะเชิญมาประชุมพร้อมกันเลย เพื่อให้ทุกคนแบ่งเบากันลงไป เรามาคุยกัน กรุงเทพฯ ปทุมฯ รับได้แค่ไหน ถ้าแค่นี่เรารับได้เราก็รับ แต่ต้องช่วยผันน้ำ หากทางนครปฐมเขาหนักก็ต้องผันน้ำลงเจ้าพระยา หรือผันออกนครนายกออกบางประกงไป ในส่วนของรังสิต นายกโบลิ่งได้ประสานรังสิตเหนือรังสิตใต้ ควบคุมระดับน้ำในคลองรังสิตฯ ร่วมกับชลประทาน จะเห็นว่าตอนนี้ในคลองรังสิตยังไม่วิกฤต ยังรับน้ำได้ แต่ต้องพร่องน้ำออกให้เยอะที่สุด เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำ การที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช้จังหวัดใครจังหวัดมัน ต่างคนต่างป้อง ต่างคนต่างทำ ไม่มีทางอยู่ จึงต้องประชุมหารือบูรณาการร่วมกัน.